December 30th, 2010

สวัสดีปีใหม่คะ ปีใหม่นี้ขอให้ทุกท่านมีแต่ความสุขสมหวัง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ คิดเงินให้ได้เงิน คิดทองให้ได้ทอง มีความสุขกับทุกวันของชีวิตนะคะ
หากท่านใดที่ต้องเดินทางไปท่องเที่ยวขอให้เดินทางปลอดภัยนะคะ
ด้วยความปรารถนาดีจาก BrandAnything (^^)
Categories: Uncategorized |
No Comments
December 22nd, 2010
ฉบับที่แล้วจบกันตอน 1 ที่เกี่ยวข้องกับ Vision ที่เป็น 1 ใน 6 เสาหลักของพลังของความแตกต่างที่ไม่หยุดนิ่ง หรือ Energize Differentiation
ในตอน 2 ฉบับนี้ขอหยิบยกอีก 2 เสาหลักมาเป็นแนวคิดในการสร้างธุรกิจ และแบรนด์ของผู้ประกอบการให้แข็งแรงและแตกต่างจากคู่แข่ง
2. Difference (ความแตกต่าง)
ความแตกต่างไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว
ความแตกต่างสามารถนำพาไปใช้กับการบริการ หีบห่อบรรจุภัณฑ์ การตั้งชื่อสินค้า และอื่นๆอีกมากมาย ที่เป็นองค์ประกอบในการสร้างแบรนด์
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปี SONY ได้สร้างความแตกต่างให้กับเครื่องเล่นเทป Cassette ที่สามารถนำออกนอกบ้าน ไปไหนมาไหนได้ ในสินค้าที่ชื่อว่า SONY Walkman มีขนาดเล็กเท่าฝ่ามือ น้ำหนักเบาไม่ถึง 1 กิโล
ความแตกต่างที่ SONY ได้สร้างขึ้นในสินค้าประเภทนี้ ไม่ได้เพียงแค่ต้องการสร้างรายได้ให้กับบริษัทของ SONY เองเท่านั้น แต่ได้ประกาศศักดาแห่งความเป็นผู้ริเริ่มสร้างนวัตกรรม แห่งการพกพาเสียงเพลงไปที่ใดก็ได้
ประวัติศาสตร์ได้จารึก Walkman ไว้ในความทรงจำของชาวโลก
แม้กระทั่งคำว่า Walkman เอง ก็ได้กลายเป็นชื่อสามัญ ที่ทุกคนใช้แทนคำว่าเครื่องเล่นเพลงพกพา ไปนานนับหลาย 10 ปี และคุณก็จะเจอศัพท์ภาษาอังกฤษของคำว่า Walkman ในพจนานุกรมจากหลายสำนักเช่นเดียวกัน
SONY Walkman ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสะดวกสบาย จากการที่เคยต้องรับความเพลิดเพลินจากเสียงเพลง ในอาคารบ้านเรือนเพียงอย่างเดียว
ความแตกต่างถูกสร้างขึ้นพร้อมไปกับ Relevance ที่ผู้บริโภคกำลังโหยหาและต้องการ
ดัชนีการวัดความสำเร็จของความแตกต่างจากสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ดูได้จากความคลั่งไคล้ของผู้บริโภค ที่มีต่อสินค้านั้นๆ
เมื่อเวลาผ่านไปการแข่งขันไม่เคยปราณีผู้เล่นใดทั้งสิ้น สิ่งที่ยากที่สุด ที่นักการตลาดมักจะพูดกันอยู่เสมอ “การป้องกันตำแหน่งผู้นำ ยากกว่าเป็นผู้ตามที่จะล้มแชมป์”
แล้วเกิดอะไรขึ้นเมื่อ Apple ได้เปิดตัว iPod ราว 6-7 ปีที่ผ่านมา
นวัตกรรมของการพกพาเสียงเพลง คงไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้บริโภคอีกต่อไป
ความประหลาดใจที่เกิดขึ้นในใจของผู้บริโภค ต่อการเปิดตัวของ iPod คือ นวัตกรรมแห่ง Lifestyle ที่วัยรุ่นและวัยเก๋าทุกๆคนจำเป็นต้องมีไว้ครอบครอง
Relevance หรือความจำเป็นของ iPod ไม่ได้เกิดขึ้นจากเครื่องเล่นขนาดเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบาอีกต่อไป
รูปแบบของงานดีไซน์ สีสัน และความจุของเพลง ที่มากมายมหาศาลได้กลายเป็นขั้นบันไดที่สูงกว่าสิ่งที่ผู้บริโภคได้เคยพบเห็น
สายหูฟังที่เป็นสีขาว เครื่องเล่นที่ใช้งานง่ายด้วยปุ่ม หรือ ฟังก์ชั่นที่ถูกสร้างบนพื้นฐานของความสะดวกที่มากกว่าสิ่งของใดๆ ที่มนุษย์บนโลก ได้เคยมีประสบการณ์มาก่อน
มีข้อน่าสังเกตจากความสำเร็จของ Apple ที่สร้างความประหลาดใจอย่างไม่หยุดยั้ง คือการที่ Apple ไม่ได้หยุดพัฒนาตัวสินค้า iPod ที่มีแค่ 1-2 รุ่น แต่ตัวสินค้าเองได้ถูกกลายพันธุ์ไปในแนวที่ลึกกว่า โดยมีสายพันธุ์ที่สร้างบนพื้นฐานความต้องการในแต่ละทัศนคติ เพศ และวัย ของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป เช่น iPod Classic , iPod Nano , iPod Shuffle เป็นต้น
การสร้างความแตกต่างไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ตัวเทคโนโลยีหรือตัวสินค้าเขาเองเป็นกลยุทธ์เสมอไป
ถ้าเปรียบ iPod กับ Walkman เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว Walkman คือสินค้าที่ถูกสร้างบนแนวคิดของความสะดวก ความสบาย ที่สามารถนำเอาเสียงเพลงออกไปฟังนอกบ้านได้ด้วยขนาดเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบา
แต่ iPod กลับถูกสร้างบนพื้นฐานของ Lifestyle ที่อาจจะจับต้องไม่ค่อยได้ แต่สามารถรู้สึกและแสดงออกได้จากตัวตนของผู้บริโภค
เวลาผ่านไป ทัศนคติเปลี่ยนไป ผู้บริโภคก็ย่อมเปลี่ยนไปตามวันและเวลา อย่างที่รู้จักกันในคำว่า “กระแส”
ต้องขอยกย่อง Apple ที่ไม่เพียงหยุดอยู่แต่ iPod เพียงตัวเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้น กระแสในกลุ่มผู้บริโภคคงหลุดหายไป
ความเสมอต้นเสมอปลาย ถือได้ว่าเป็นความแตกต่างในองค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่ง เพราะ “การเปลี่ยนแปลง คือ การไม่เปลี่ยนแปลง” นั่นเอง
หลักฐานทางสังคมที่ตามมาหลังจากความสำเร็จของ iPod คือ iPhone และ iPad ที่ผู้บริโภคทั่วโลกยังคงคลั่งไคล้หลงไหล
3. Distinctiveness (ความโดดเด่น)
ความโดดเด่น เป็นอีก 1 ใน 6 เสาหลักที่ช่วยผลักดันให้ผู้บริโภค “ยินดีจ่ายแพง” ขึ้นอีกซักหน่อย
การแข่งขันในทะเลสีแดงเป็นการแข่งขันที่เหนื่อย และได้ผลกำไรบางมาก หรือไม่ก็เพียงแค่เท่าทุน พออยู่รอดได้ไปเป็นวันๆ
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 Singapore Airline ได้เปิดตัวเครื่องบิน Airbus รุ่น A380 ที่มีที่นั่ง 2 ชั้นตลอดลำเป็นครั้งแรกในโลก ด้วยเส้นทางบินจาก สิงคโปร์ สู่ ซิดนีย์
ไฟล์ปฐมฤกษ์นี้ ผู้โดยสารที่ประสงค์จะเป็นคนกลุ่มแรก ที่ได้นั่งเครื่องบินรุ่น Airbus A380 นี้ จะต้องเข้าไปในเว็บไซด์ของ Singapore Airline เพื่อประมูลแข่งกัน และรายได้ทั้งหมด ทางสายการบิน Singapore Airline ก็จะนำไปสมทบให้กับมูลนิธิต่างๆเพื่อเป็นการกุศล
การที่ Singapore Airline เปิดตัว Airbus A380 เป็นสายการบินแรกของโลก ได้ตอกย้ำแนวความคิดของ Singapore Airline ที่เป็นสายการบินที่ดีที่สุดในโลกสายการบินหนึ่ง ในด้านการบริการ
ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 ที่ Singapore Airline ได้นำ Airbus A380 เหิรฟ้าจากเกาะสิงคโปร์เกาะเล็กๆเกาะหนึ่ง ข้ามน้ำข้ามทะเล ไปแตะผืนแผ่นดินออสเตรเลีย ที่นครซิดนีย์ มีข่าวของการเปิดเส้นทางบินนี้ ของ Singapore Airline ปรากฏอยู่ในสื่อทุกแขนงทั่วโลก อย่างเช่น CNN , BBC , NHK ที่ประเมินออกมาเป็นค่าสื่อที่สูงมหาศาล ที่ใครต่อใครต้องอิจฉาไปตามๆกัน
ไม่มีใครไม่รู้จัก Singapore Airline และแน่นอนไม่มีใครไม่รู้จักเครื่องบินที่มีชื่อรุ่นว่า Airbus A380
แค่การซื้อ Airbus A380 มาครอบครองคงไม่ได้ทำให้ Singapore Airline เกิดความโดดเด่น ที่อยู่ในใจของผู้บริโภคได้ เพราะถ้าเวลาผ่านไปเพียง 2-3อาทิตย์ เครื่องบินรุ่นที่ว่านี้ก็คงไม่มีอะไรแปลกใหม่โดนใจให้ผู้บริโภคเกิดความประทับใจในที่สุด
หัวใจของความโดดเด่นคือสิ่งที่จับต้องได้ มีที่มา มีที่ไป มีเหตุ มีผล ผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินความโดดเด่นของแบรนด์ต่างๆ ไม่ใช่ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ที่อาจจะเข้าข้างตัวเอง
ที่สุดของที่สุดก็ได้เกิดขึ้นในห้องผู้โดยสารชั้น 1 ของ Singapore Airline ที่มีความโดดเด่นแบบสุดๆ ไม่มีใครสามารถเทียบชั้นได้
Singapore Airline ได้สร้างห้องผู้โดยสารชั้น 1 ให้กลายเป็น “ห้องจริงๆ” มีเก้าอี้นั่งที่สามารถปรับให้พับเป็นเตียงราบแบบ 180 องศา ขนาดน้องๆของเตียงเดี่ยวในโรงแรมทั่วไป
มีหมอนขนาดใหญ่ มีผ้าห่มนุ่มสบายไว้คอยบริการ พร้อมกับอาหารที่เสิร์ฟแบบโรงแรม 6 ดาว
ห้องน้ำ ที่ไม่ใช่ห้องน้ำในรูปแบบเครื่องบินอีกต่อไป มีขนาดกว้างใหญ่ไม่อึดอัด พร้อมอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกสบายครบครัน จากแบรนด์หรูระดับโลก
ความโดดเด่นของ Singapore Airline ได้แยกให้ตัวเองออกจากการแข่งขันในธุรกิจสายการบินทั่วไปอย่างสิ้นเชิง
เขาไม่มีคู่แข่ง แต่เขากำลังแข่งกับตัวเอง ที่จะทำอย่างไรที่จะมัดใจผู้บริโภคให้จงรักภักดี อยู่กับเขาไปให้นานที่สุด
ความโดดเด่นของห้องโดยสารชั้น 1 ได้สร้างรายได้อย่างมหาศาล ด้วยราคาค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-นิวยอร์ค (โดยต้องแวะเปลี่ยนเครื่อง เพื่อขึ้นเครื่องบิน Airbus A380 นี้ที่สิงคโปร์) แบบที่ใครต่อใครคงต้องตะลึง แค่ 400,000 กว่าบาทเอง!!!
เสน่ห์อีกมุมหนึ่งของกรณีศึกษานี้ คือการที่ Singapore Airline ไม่ได้เรียกชั้นระดับหรูนี้ว่า First Class แบบที่สายการบินอื่นๆเขาเรียกกัน แต่กลับตั้งชื่อให้เก๋ และโดดเด่นว่าชั้น Suite เพื่อลบความทรงจำเก่าๆที่ผู้บริโภคมีต่อคำว่า First Class
เมื่อใดที่ีมีพัฒนาการของนวัตกรรมเพื่อความโดดเด่น การเปลี่ยนแนวคิด และทัศนคติของผู้บริโภคก็จะต้องพิจารณาให้มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันด้วย เหมือนกับที่มีก๋วยเตี๋ยวลุยสวนในอดีตที่ไม่นานจนเกินไป ซึ่งจริงๆแล้วก็คือก๋วยเตี๋ยวหลอด ที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์
เหมือนกับก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ซึ่งจริงๆแล้วก็คือ ก๋วยเตี๋ยวน้ำหมู ที่ใส่ลูกชิ้นปลา แต่มีส่วนผสมของถั่วฝักยาวซอยเป็นชิ้นเล็กๆ และโรยด้วยกุุ้งแห้งเพื่อให้เกิดความโดดเด่น และแปลกใหม่ ในการที่สามารถเข้าไปเบียด เพื่อเปิดร้านขายใหม่ได้อีก 1 ร้าน ในศูนย์อาหาร เป็นต้น
อย่างที่ใครๆเขาพูดว่า “ชื่อนั้นสำคัญไฉน”
(โปรดติดตามตอนจบในฉบับหน้าครับ)
Categories: Articles Anything |
Tags: Sohn Chongsrichan | No Comments
December 13th, 2010
งานสัมมนา “สร้างหัวใจ…ในการบริการ” หรือ Art of Service ณ โรงแรม Centara Grand จังหวัดอุดรธานี ได้เสร็จสิ้นไปเมื่อวันเสาร์ที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยอ. สรณ์ จงศรีจันทร์ เจ้าเก่า
นับเป็นการรวมกันของผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs 5 บริษัทในจังหวัดอุดรธานี คือ บริษัท D4Desire, เหล่ายานยนต์, ก.กระจก จำกัด, Botanique และ Surat Pro Plus ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริการที่มีผลทำให้ธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จและครองใจผู้บริโภค

การบริการนับเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆของการทำธุรกิจ และทำให้ธุรกิจของท่านแตกต่างจากคู่แข่ง สินค้าสามารถลอกเลียนแบบได้ แต่การรักในการบริการ ความเอาใจใส่นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและถ้าไม่ได้มาจากใจจริงแล้วยิ่งเป็นสิ่งที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก
ดังนั้นเรามาหา และสร้างความแตกต่างทางธุรกิจกันโดยพัฒนาการบริการควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าของทุกท่านดีกว่านะคะ ^^
Categories: Uncategorized |
No Comments
December 13th, 2010
ผมต้องดีใจกับแบรนด์หลายๆแบรนด์ ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี หรือ 200 ปี อย่างเช่น โค้ก เป๊ปซี่ คอลเกต ชิเซโด้ ลักซ์ เชลล์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ หรือ ฮาร์เลย์ เดวิดสันและต้องไม่ลืมแบรนด์ไทยอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และเครือซีเมนต์ไทย เป็นต้น
คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเรื่องง่ายๆที่แบรนด์เหล่านี้จะอยู่ยงคงกระพันได้ โดยปราศจากกลยุทธ์และเหตุผลที่ดีทางการตลาด
แบรนด์ที่อยู่มานานได้กว่า 100 ปี ได้เดินทางผ่าน 2 เจเนอเรชั่น หรือ 3 เจเนอเรชั่น ของผู้บริโภค ตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ยาย มาจนถึงยุค คุณลูก คุณหลาน
ผู้บริโภคได้มีโอกาสเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของแต่ละแบรนด์ ในแต่ละอุตสาหกรรมที่ต่างกันไป จากการพัฒนาคุณภาพของตัวสินค้า หีบห่อ ช่องทางการจัดจำหน่าย ไปจนถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ และเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในเวลาเดียวกัน
ในระหว่างการเดินทางของแบรนด์ทั้งหลาย ผู้บริโภคจะได้เห็นความสำเร็จของแบรนด์ตั้งแต่แรกเริ่ม จนถึงปัจจุบัน และในขณะเดียวกัน ก็คงมีโอกาสได้เห็นถึงแบรนด์์ที่ต้องล้มลุกคลุกคลาน จนท้ายที่สุดก็ต้องล้มหายตายจากโลกนี้ไป
แบรนด์ที่อยู่ยงคงกระพันได้ คือแบรนด์ที่มีความรุ่งโรจน์ เปรียบเสมือนกับคนที่มีแต่ความสุข ความมั่งคั่ง ร่ำรวย มีอันจะกิน มีคนรู้จักและชื่นชมอยู่ตลอดเวลา
แบรนด์ที่ร่วงโรย คือ แบรนด์ที่เจ็บป่วย เป็นไข้ ไม่มีภูมิคุ้มกันอย่างถาวร แบรนด์ประเภทนี้อยู่ในท้องตลาดแบบฉาบฉวย กอบโกยกำไรจากผู้บริโภคในระยะเวลาอันสั้น ไม่สามารถสร้างความประทับใจ และความจงรักภักดีในกลุ่มผู้บริโภคได้
มีคำถามเกิดขึ้นมาในใจอยู่ตลอดเวลาว่า อะไรคือองค์ประกอบหลัก ที่สร้างความแข็งแกร่ง อยู่ยงคงกระพันให้กับแบรนด์รุ่งโรจน์เหล่านี้
ผมได้เคยเขียนสูตรสำเร็จของการสร้างแบรนด์ไว้ในนิตยสาร BrandAge นี้ เมื่อปีกว่าที่แล้วว่า แบรนด์ที่ประสบกับความสำเร็จและแข็งแกร่งได้อยู่ตลอดเวลานั้น จำเป็นที่จะต้องมี 4 เสาหลัก เพื่อยึดเหนี่ยวให้แบรนด์โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง และ 4 เสาหลักนี้ คือ
1. Differentiation สินค้าหรือบริการต้องมีความแตกต่างและโดดเด่น
2. Relevance สินค้าหรือบริการต้องมีความจำเป็นและเหมาะสมต่อผู้บริโภค
3. Esteem ผู้บริโภคต้องชื่นชมและชมชอบต่อสินค้าหรือบริการ
4. Knowledge สินค้าหรือบริการต้องเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภค
ตามหลักการสร้างแบรนด์ของหลายสำนัก คงจะมีหลักการและสูตรสำเร็จที่หลากหลายกว่า 4 เสาหลัก ในข้างต้นที่กล่าวมา เครื่องมือที่เรียกว่า BRAND ASSET VALUATOR ของบริษัท Y&R นี้ เป็นแนวคิดในการพัฒนาแบรนด์ของลูกค้าเรา ที่ใช้กันอยู่เป็นประจำ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือที่ Y&R ทั่วโลก ใช้ในการพัฒนาแบรนด์ของลูกค้า ให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างรุ่งโรจน์
มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ในการถอดรหัส 1 ใน 4 เสา ของ BRAND ASSET VALUATOR ที่เป็นแกนของ Differentiation เพื่อจะทำให้เกิด Energize Differentiation มีมิติอีก 6 แกน ที่สามารถซอยย่อยออกมา เพื่อที่จะทำให้ Differentiation มีความแข็งแรงและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
เราเรียก 6 มิตินี้ว่า “พลังของความแตกต่างที่ไม่หยุดนิ่ง” หรือ Energize Differentiation
1. Vision (วิสัยทัศน์)
ถ้าถอยกลับไปวิเคราะห์ถึงแบรนด์ที่รุ่งโรจน์มาตลอดกว่า 100 ปี หรือมากไปกว่านั้น เราจะเห็นถึงวิสัยทัศน์ ที่คมชัดในการพาให้แบรนด์เดินทางฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆนานาชนิด ได้อย่างราบรื่น
คงไม่มีองค์กรใดที่จะประสบกับความสำเร็จได้ โดยปราศจากเป้าหมาย ปรัชญา และแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ
ถ้าผมจะลองเปรียบความหมายของ Vision กับทางพุทธศาสนาของชาวพุทธ คำๆนี้น่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ภาวนา”
เมื่อเราภาวนาสิ่งใดเราก็มักจะได้สิ่งนั้นสมดังปรารถนาไม่ใช่หรือ
หลายคนภาวนาขอให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดี มีครอบครัวที่ดี และมีความสุข สุดท้ายคนเหล่านี้ก็ได้รับสิ่งดีๆที่ตนได้ภาวนา เป็นของขวัญและรางวัลกลับไป
Vision เป็นตัวกำหนดให้เรามีความมุ่งมั่น มุมานะ พากเพียร พยายาม ต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรค
เมื่ออยากมีสุขภาพที่ดี มีครอบครัวที่ดี และมีความสุขในชีวิต คนๆนั้นก็ต้องมีวินัย ในการใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพของตัวเอง โดยไม่กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย วางตัวอยู่ในกรอบของศีลทั้ง 5 ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนดี และท้ายสุดก็นำมาซึ่งความสุข ความเจริญให้แก่ตนเองและครอบครัว
การตั้ง Vision หรือ ภาวนา คงไม่ใช่เรื่องที่เพียงแค่จะตั้งขึ้นมาลอยๆ แล้วก็รอคอย ให้ฟ้าดินประทานให้ธุรกิจเกิดความเจริญรุ่งเรือง รุ่งโรจน์ โดยที่ไม่ได้ทำอะไร ในระหว่างทางให้สอดคล้องกับสิ่งที่ได้วางเป็นเป้าหมายของธุรกิจ
Vision เป็นกรอบของความคิด ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องคอยตรวจเช็คอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ และกำลังจะทำต่อไป หลุดลอยออกจากแก่นแท้ ของแนวคิดธุรกิจหรือไม่
ผมขอหยิบยกแบรนด์รุ่งโรจน์ที่ประสบกับความสำเร็จมากๆในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีอายุยังไม่ครบ 100 ปี เพื่อเป็นกรณีศึกษา
ผมต้องขอชื่นชมต่อผู้บริหารในยุคที่แบรนด์ Nokia ถูกนำออกสู่ตลาดในวันแรก ด้วยสโลแกน “Connecting People”
ลองมองย้อนกลับไปในอดีตของการสร้างแบรนด์โนเกีย จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเขาวางสโลแกนของแบรนด์ว่า (สมมติ “The Best Mobile Phone In The World”)
ในความเป็นจริงผมกลับไม่ได้มองว่า Connecting People เป็นเพียงแค่สโลแกนของ Nokia
Connecting People ในวลีนี้หมายรวมถึงการที่แบรนด์ Nokia ได้พยายามวาง Vision ปรัชญา เป้าหมายทางธุรกิจ ตลอดจน Communication Message ให้ไปในทิศทางเดียวกันหมด
ความเก่งกาจ ฉลาดเฉลี่ยว ของ Nokia ในการวางทิศทางแบบนี้ ถูกจัดให้อยู่ในขั้นเซียนได้อย่างสบาย
หลายคนมักสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไรที่วลี Connecting People จะสามารถครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างได้
ทำไมไม่แยก Vision เป็น 1 อัน ปรัชญาเป็น 1 อัน เป้าหมายเป็น 1 อัน และ Communication Message เป็น 1 อัน
ผมโดยส่วนตัวมองว่าการแตกกระจายของการวางกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ คือ ความไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อสู้กับคู่แข่ง
บ่อยครั้งจะเห็น Vision ขององค์กรหนึ่ง วิ่งไปทิศทางหนึ่ง กลยุทธ์การตลาด ก็วิ่งไปทางทิศตรงกันข้าม และสุดท้าย Communication Message ก็วิ่งไปอีกทิศทางหนึ่ง ที่ต่างขัดแย้ง สวนทางกันหมด
คนเก่งเท่านั้นที่จะรวบทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้บนวลีสั้นๆ อย่างที่ Nokia ได้สร้างไว้
ถ้าเขาวางตัวเองเป็น The Best Mobile Phone In The World ผมคิดว่าธุรกิจของเขาคงจะร่วงโรยไปเมื่อหลายปีก่อนอย่างแน่นอน
ก็เพราะธุรกิจการสื่อสารบนโลกวันนี้ ไม่ได้ถูกจำกัดแค่การพูดคุยกัน ผ่านโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว
การสื่อสารหรือการเชื่อมโยง (Connecting People) ให้คนได้มีโอกาสเข้าถึงกันได้อย่างอิสระเสรี เป็นกลไกที่เปลี่ยนแนวความคิดเดิมๆของธุรกิจเครื่องรับ-ส่งโทรศัพท์
คนใช้ Data Communication กันมากขึ้น ด้วยระบบเทคโนโลยี 3G ที่เป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวก ให้มีความสามารถในการรับ-ส่งขอมูลหนักๆ
ระบบ GPS ที่ถูกสร้างขึ้นในระบบมือถือของ Nokia หลายรุ่น ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด
โทรศัพท์มือถือของ Nokia ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังระบบ e-mail , facebook , twitter และอื่นๆอีกมากมาย
นี่คือการ Connecting People ที่ไปได้มากกว่าการติดต่อสื่อสารแบบเดิมๆ
เมื่อกลางปีที่แล้วคู่แข่งของ Nokia ต่างก็ต้องตะลึงกับสินค้าใหม่ ที่ชื่อว่า Nokia Booklet 3G ที่เป็น Netbook สามารถเชื่อมต่อกับการสื่อสารในทุกระบบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีใครเคยคิดไหมว่า Nokia จะเปิดตัว Booklet เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค
Nokia ได้กลายพันธุ์ธุรกิจของตนจากที่เคยเป็นสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ ไปสู่ธุรกิจ Hardware ในรูปแบบ Netbook ที่ไม่ได้แข่งขันกับคู่แข่งอย่าง Motorola , Samsung หรือ LG แต่ขยายน่านน้ำออกไปสู้กับ HP , Acer , Lenovo หรือ Dell เป็นต้น
การวาง Vision ที่ดี คือ การวาง Vision ที่เป็น Customer Centric (เอาผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง) เข้าถึงได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก สลับซับซ้อน และที่สำคัญ เปิดโอกาสให้ธุรกิจวิ่งไปได้ไกลกว่าสิ่งที่เคยทำอยู่อย่างซ้ำๆซากๆ
การเดินทางบนเส้นทางธุรกิจของ Nokia ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ธุรกิจที่รุ่งโรจน์ส่วนหนึ่ง ได้มาจากการวาง Vision ที่คมชัดตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ
ผมมีความเชื่ออีกว่า Nokia คงจะไม่ได้หยุดเพียงแค่การเปิดตัว Nokia Booklet 3G แต่คงเป็นไปได้ที่จะมีธุรกิจสินค้าหรือบริการในอีกหลากหลายรูปแบบ ที่จะถูกป้อนออกสู่ตลาด เพื่อสร้างความสุข ความสบาย ให้แก่ผู้บริโภคในวันนี้และในอนาคตอันใกล้นี้
การเดินทางของแบรนด์ที่มีอายุ 28 ปีในธุรกิจการสื่อสารของ Nokia โดยที่ยังตอกย้ำจุดยืนของการเชื่อมต่อให้คนเข้าถึงกันได้ (Connecting People) ยังคงมีความกระชุ่มกระชวย เปรียบเสมือนเด็กหนุ่ม เด็กสาว ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ความคิด เป็นเหมือนหัวรถจักร ที่จะฉุดกระชากลากจูง ให้รถไฟทั้งขบวนวิ่งไปข้างหน้า สู่ความรุ่งโรจน์อย่างยั่งยืน แบบหาใครเปรียบได้ยาก
และคอยดูว่า Nokia จะมีอะไรดีๆ เด่นๆ ดังๆ และโดนๆใจผู้บริโภค ออกมาให้เราได้ตะลึงกันอีก
(โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้าครับ)
Categories: Articles Anything |
Tags: Sohn Chongsrichan | No Comments
December 13th, 2010
มีกิจกรรมดีๆมาอัพเดทกันอีกแล้วนะคะ เป็นกิจกรรมของทาง SunGroup ที่ได้แสดงพลังสามัคคีร่วมใจกันใส่เสื้อสีชมพูมาร่วมทำกิจกรรมกันอย่างถ้วนหน้า
ไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงพลังของความสามัคคีของคนในบริษัทแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความเคารพนับถือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราชาวไทยอีกด้วยคะ ^^

คราวหน้าจะนำภาพกิจกรรมดีๆ น่ารักๆ มาฝากเพื่อนๆพี่ๆชาว BrandAnything กันอีกนะคะ ^^
Categories: Uncategorized |
No Comments