ศิลปะการบริการ @ ชลบุรี

January 20th, 2010

เปิดปีใหม่กับการอบรมสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “ศิลปะในการบริการ”

เมื่อวันเสาร์ที่ 9 มกราคม 2553 ณ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน

งานนี้มีพี่ๆชาว SMEs มาร่วมงานกันมากหน้าหลายตา ทั้งหน้าเก่า

และหน้าใหม่ ที่พร้อมกันจูงมือมาตักตวงความรู้เพิ่มเติมเพื่อพิชิตใจ

ลูกค้าเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ไปดูภาพบรรยากาศกันดีกว่า ^___^

นักเรียนมากหน้าหลายตา ดูกันเอาเองว่าใครเป็นใคร

ร่วมทำกิจกรรมกันอย่างสนุกสนาน

สามัคคีกันมากๆ

Categories: Gallery Anything | Tags: , | No Comments

ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไป (ตอนที่ 3)

January 12th, 2010

ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไป (ตอนที่ 3) โดย สรณ์ จงศรีจันทร์ – ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ในกลุ่มบริษัท ยัง แอนด์ รูบิแคม แบรนด์

2. ผู้บริโภคในปัจจุบันดื้อยาและเคยตัวมากขึ้น

ใครเติมน้ำมันในวันนี้มักจะเรียกหาของแจก ของแถมจากเด็กปั้ม ประโยคนี้เป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยมาก

“มีน้ำดื่มแถมฟรีหรือเปล่า ?”

และถ้าปั้มน้ำมันไหนไม่รับบัตรเครดิตผู้บริโภคที่ปรารถนาจ่ายด้วยบัตรเครดิตจะต้องไม่พอใจอย่างแน่นอน

ใช้บัตรเครดิตเติมน้ำมันสะดวกสบายกว่า มีเศษสตางค์เกินมานิด เกินมาหน่อยไม่ใช่เรื่องใหญ่

ใช้บัตรเครดิตบางแบรนด์ยังได้ส่วนลดอีก 1% – 3% จากการเติมในแต่ละเดือน

ใช้บัตรเครดิตบางแบรนด์เกิน 800 บาท ยังได้ Pepsi และน้ำผลไม้ฟรี นอกเหนือจากน้ำดื่มที่ให้ฟรีกันเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว

ใช้บัตรเครดิตได้แต้มสะสมเพื่อนำไปแลกสิ่งของต่างๆจากแต่ละบริษัทบัตรเครดิตได้อีก

ใช้บัตรเครดิตไม่ต้องจ่ายเงินทันที มีระยะเวลาปลอดหนี้เป็นเดือน  และสามารถแบ่งจ่าย (Revolving) เป็นงวดๆได้

ลองพิจารณาดูว่าผู้บริโภคมีแต่ได้กับได้จริงไหม?

สิ่งที่ได้กล่าวมาได้กลายเป็นความคาดหวังขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคไปแล้ว  หากขาดกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งจะทำให้ความรู้สึกของผู้บริโภคสะดุดได้ทันที และมีสิทธิ์ที่พวกเขาจะเดินไปซบอกธุรกิจของคู่แข่ง

ย้อนกลับมาดูในฝั่งของผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจ จากที่เคยมีความมั่งคั่งเฟื่องฟูจากผลประกอบการที่เกิดขึ้นในอดีต Business Model ใหม่ของผู้ประกอบการ (ที่ไม่มีใครอยากจะเป็น) ได้สร้างแรงกดดันให้ทุกภาคธุรกิจต้องคิดใหม่ ทำใหม่

ผลกำไรน้อยลงจากการแข่งขันที่ดุเดือดเข้มข้นขึ้นจากต้นทุนการทำธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น จากความต้องการที่มากขึ้นของผู้บริโภคและอีกหลากหลายสาเหตุของกลไกการตลาด จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องมีความแตกต่าง แข็งแกร่ง และอดทนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

เหมือนกับธุรกิจของบริษัทผมที่เคยมีผลกำไรงามพอสมควรในอดีต กลับต้องมาจบด้วยผลกำไรที่บางลงอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน

ผมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ให้บทเรียนกับผู้ประกอบการในแง่มุมที่ดี

ในทุกภาคธุรกิจเราจะไม่ค่อยเห็นความสุรุ่ยสุหร่าย หรือไขมันส่วนเกินอีกต่อไป

องค์กรที่เคยมียอดขายพันล้านบาท ด้วยพนักงาน 200 คน ก็สามารถสร้างผลประกอบการบนรายได้เดิมได้ด้วยคนน้อยลง หรือผลประกอบการที่มากขึ้นด้วยจำนวนคนที่อาจจะเท่าเดิม

ต้องขอบคุณผู้บริโภคที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

3. ผู้บริโภคเห่อกระแสและชอบเกาะกระแส

คุณยังจำวันที่หลินปิงลืมตาดูโลกเมื่อกลางปี 2552ได้ไหม?

สวนสัตว์เชียงใหม่แทบแตก!!!!

กองทัพประชาชนจากทั่วทุกสารทิศต่างมุ่งหน้าสู่สวนสัตว์เชียงใหม่ เพียงเพื่อได้ดูแพนด้าน้อยที่แสนจะน่ารัก

ทุกสื่อในประเทศต่างประโคมข่าวกันแบบนาทีต่อนาที  บางสื่อถึงขนาดรายงานการเจริญเติบโตของแพนด้าน้อยหลินปิงกันแบบวันต่อวัน นาทีต่อนาที อย่างในช่องรายการหนึ่งของ ทรูวิชั่นส์

ผมเองยังจำได้เลยว่าจากวันแรกที่แพนด้าน้อยตัวนี้ดูน่าเกลียดน่าชัง จนกลายเป็นแพนด้าน้อยที่แสนจะน่ารัก เป็นขวัญใจของคนไทยทั่วประเทศ

ต้องขอบคุณกระแสของหลินปิงน้อยที่ช่วยกลบข่าวการเมืองที่แสนจะน่าน้ำเน่า หรือแม้กระทั่งข่าวอาชญากรรมที่ชอบปรากฏอยู่ในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์หัวสีต่างๆ

กระแสการเมืองที่ดูร้อนแรงกลับโดนกระแสของหลินปิงฟีเวอร์กลบได้อย่างมิดชิด

ผมคงไม่ต้องกล่าวถึงกระแสของ iPhone ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาว่าแรงแค่ไหน ลูกเด็กเล็กแดง วัยรุ่นหรือแม้กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆคนต่างพากันไปกระหน่ำซื้อมาครอบครองด้วยราคาที่ไม่ถูกเลย

แล้ววันนี้เกิดอะไรขึ้นกับกระแสของธุรกิจการสื่อสาร

BB…Blackberry มาแรงแซงโค้งทุกอย่างไปแล้ว

ผมมี  BB เพื่อใช้พกพาไปนอกสถานที่แทนระบบ E-mail ในออฟฟิศมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

คนข้างตัวผมต่างประนาฌผมว่าไม่รู้จักปล่อยวาง บ้างานหรือทำตัวให้ดูเป็นนักธุรกิจ

แต่ในวันนี้ BB กลับกลายเป็นกระแสแฟชั่นที่ทุกคน (ที่สามารถซื้อเป็นเจ้าของได้) จะต้องมี

BB ถูกใช้ให้เป็นของกำนัลเพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค

อย่างโครงการคอนโดมิเนียมแถวย่านทองหล่อเสนอ BB เป็นของขวัญให้กับผู้ซื้อและอีกหลากหลายธุรกิจในปัจจุบันที่เสนอ BB ให้เป็นของกำนัล

ต้องยอมรับว่าสินค้าตัวนี้ที่ชื่อว่า BB ไม่มีโทษอะไรต่อผู้บริโภค (ยกเว้นเสียแต่ chat กันแบบลืมหูลืมตาไม่ขึ้น) ประโยชน์มีมากมายมหาศาลซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถปฏิเสธได้

เป็นเพราะ BB ได้รับความนิยมด้วย Functionality ของตัว BB เองรึเปล่า?

สามารถรับส่ง  E-mail ได้ BB Messenger (BBM) ได้ ถ่ายรูป ฟังเพลงได้ Navigator ได้ Facebook ได้ Twitter ได้ และอื่นๆอีก

ถ้าผู้บริโภคซื้อ BB ด้วยเหตุผลข้างต้นที่กล่าวมา แล้วทำไมผู้บริโภคถึงไม่ไปซื้อ Hardware ของแบรนด์ดังอื่นๆ จากค่ายญี่ปุ่น เกาหลี หรือยุโรป ที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันหรือสูงกว่า ในราคาที่ถูกกว่า

เป็นไปได้ไหมที่ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อ  Functionality เพราะความรู้สึกของผู้บริโภคย่อมอยู่เหนือเหตุผล ถ้าใช่ ถ้าชอบก็ซื้อ

เรามักจะเห็นความสำเร็จของแบรนด์ใหญ่ๆในโลกที่ถูกสร้างขึ้นโดยมิติของความรู้สึก อย่างเช่น Apple ที่ได้รังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆออกสู่ตลาดโลก เช่น iPod หรือ iPhone

นวัตกรรมของ Apple ได้นำพาให้แบรนด์แบรนด์นี้เดินไปข้างหน้าได้ไกลกว่าคู่แข่ง แต่ถ้าสังเกตให้ดี นวัตกรรมของ Apple ไม่ได้ถูกชูขึ้นมาเป็นจุดขายสักเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับกระแสที่ผู้บริโภคคลั่งไคล้ในตัวสินค้าอย่าง iPod หรือ iPhone

ผมเคยถามสาวกของ Apple หลายคนว่าทำไมถึงซื้อสินค้าดังกล่าว พวกเขาตอบว่า “มันเจ๋งนะ” ไม่มีไม่ได้เดี๋ยวจะตามเพื่อนไม่ทัน บางคนถึงขนาดต้องสั่งจากอเมริกาโดยตรงเข้ามาก่อนที่ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ Apple จะนำเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา

ในวันที่  iPod ได้ระบาดเป็นอย่างหนักเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว กระแสของ iPod ได้ทำให้ยอดขายของแบรนด์ที่เคยเป็นผู้นำตลาดจากค่ายญี่ปุ่นต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดอย่างมหาศาล

ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนอง iPod Fever และ iPhone Fever กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุปกรณ์ต่อเชื่อมที่ต้องใช้ควบคู่กันไปกับสินค้า 2 ตัวนี้ โดยผู้ประกอบการเหล่านั้นได้อานิสงส์จากความคลั่งไคล้ของ iPod และ iPhone ในช่วงที่กระแสกำลังระบาดอย่างหนัก

กระแสไม่เคยปราณีใครในรูปแบบของราคา

ตอนที่  AF 1 ในช่วงวันตัดสินรอบสุดท้าย มีคนหลายหมื่นคนยอมทำทุกสิ่ง ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้บัตรเข้าชม ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ผมได้ยินมาว่าเจ้าของงาน ผู้เกี่ยวข้องและผู้บริหารในทรูวิชั่นส์ จำเป็นจะต้องปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อหลีกเลี่ยงกับคำขอร้องจากเหล่าบรรดาญาติมิตรหรือสาวกของ AF ในการขอบัตรฟรีเข้าชมคอนเสิร์ตในวันตัดสินรอบสุดท้าย

ผู้บริโภคยอมเข้าแถวเพื่อเข้าชมหลินปิง ไม่ว่าจะใช้เวลายืนรอเพื่อซื้อตั๋วเป็นเวลากี่ชั่วโมงก็ตาม

กระแสทำให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินที่แพงกว่าบนสินค้าประเภทเดียวกันในช่วงที่กำลังเป็นที่นิยม

กระแสทำให้ผู้บริโภคมีความอดทนและอดกลั้นกับการรอคอย

ไม่มีกระแสใดที่ได้มาแบบสบายๆ มันจะต้องแลกกับคำว่า “รอและรอ”

ผมเชื่อว่าหลายๆคนมีประสบการณ์แบบนี้ดีเท่าๆกับผมในยามที่ต้องรออะไรสักอย่างในช่วงที่อะไรกำลังติดเป็นกระแส

วันที่  อ. ปาย จ. แม่ฮ่องสอน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด (นับได้จากการคลิกเข้าไปชมเว็บไซด์ที่เกี่ยวข้องกับ อ.ปาย) หรือจากกระแสที่ได้ยิน  ได้เห็นจากสังคม ธุรกิจการค้าในอำเภอนี้ต่างพากันรวย และรวย

ก่อนหน้ากระแสการท่องเที่ยวระบาดที่แหล่งท่องเที่ยวนี้ อ. ปาย มีร้านสะดวกซื้อ 7-11 อยู่เพียง 1 ร้านเล็กๆ แต่ปัจจุบันนับไม่ถ้วน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม รีสอร์ทเกิดขึ้นมาเร็วแบบดอกเห็ด มีธุรกิจท่องเที่ยวเต็มไปทั่วเมือง ราคาของกินของใช้แพงกว่าปกติ

ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของการรอคิว

รอกิน รอเข้าพัก รอรถ รอเที่ยวบิน

กระแสมีพลังเงียบที่สามารถทำลายความฝันของหลายๆผู้ประกอบการได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะดูดีมีโอกาสไปหมด

คนที่เข้ามาจับกระแสตอนช่วงที่กระแสกำลังจะตก รับรองได้เลยว่าต้องเจ็บลูกเดียว ต้องแบกภาระต้นทุนในหลายๆรูปแบบ

ผมเห็นร้านขายมือถือที่นำเข้า  iPhone จากเมืองนอกเข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมาย ก็กำลังดิ้นหนีตายจากการที่มี Stock มากจนเกินไป เฉกเช่นเดียวกับบางธุรกิจที่ต้องเจ็บไปกับการผลิตตุ๊กตาหมีแพนด้าหลินปิงออกมาในช่วง 4 -5 เดือนหลังจากที่หลินปิงแพนด้าน้อยคลอดออกมาลืมตาดูโลก

กระแสมีไว้ให้รีบขี่ไม่ใช่มีไว้ให้ดู

ภายใน 15 วันคุณต้องรีบตัดสินใจว่าจะเกาะกระแสของสิ่งเหล่านั้นหรือเปล่า?

ไม่ต้องทำแต่แค่ต้องคิดว่าจะลุยเพื่อขี่กระแสหรือเปล่า?

และหลังจากตกลงปลงใจว่าจะขี่กระแสของสิ่งเหล่านั้นคุณคงต้องรีบทำให้มันเกิดขึ้นภายใน 30 วัน

ทันในที่นี่หมายถึงผลิตมันออกมาเพื่อขายให้แก่ผู้บริโภค อย่ามัวแต่เพ้อฝันหรือภาษาอังกฤษที่ฮิตติดปากกัน NATO (No Action, Talk Only)

ผมยังไม่เคยลืมวันที่ Wristband บูมสุดๆ ราคาเส้นละเป็นพันหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนตามข้างถนน พ่อค้า แม่ค้าขายกัน 3 เส้น 100 บาท

Model ธุรกิจขายของจำนวนมากชิ้นและกำไรต่อชิ้นน้อย มันเหนื่อยกว่าขายจำนวนน้อยชิ้นและมีกำไรต่อชิ้นมาก

แบบนี้ถึงจะร่ำถึงจะรวยกันแบบสุดๆ

หลายคนเคยถามว่าขายของแพงในช่วงกระแสเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภครึเปล่า?

ผมโดยส่วนตัวไม่ได้มองว่าผู้ประกอบการนั้นๆเอาเปรียบผู้บริโภค แต่ที่เขาต้องขายแพงเพราะเขาเป็นผู้มีปัญญาที่กล้าคิด  กล้าทำ

คนทำอะไรก่อนก็ย่อมมีต้นทุนในความคิดที่แพงกว่าคนอื่นไม่ใช่หรือ?

เขาอาจต้องเสี่ยงกับความไม่แน่นอน  อย่างที่ฝรั่งเขาบอกว่า High Risk, High Return

ส่วนพวกที่เดินตามชาวบ้าน คือพวกที่มีความลังเลใจในการตัดสินใจ คอยดูชาวบ้านว่าจะเดินไปเจอตอหรือเปล่า? ถ้าไม่ตัวเองค่อยเดินตาม แบบนี้เข้าข่าย No Risk, No Return ฉันใดก็ฉันนั้น

ผู้ประกอบการทุกคนต้องเข้าใจว่า กระแสจะไม่มีวันดับสูญสิ้นจากโลกนี้ไปอย่างเด็ดขาด ตราบใดที่มนุษย์ยังอาศัยอยู่บนโลกที่สวยงามใบนี้

กระแสไปได้ทุกซอกทุกซอย  ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม และผมส่วนตัวก็เชื่อว่ากระแสก็คือโอกาสที่ดีอันหนึ่งในการสร้างธุรกิจที่ดีอยู่แล้วให้ดีมากขึ้นไปอีก

(โปรดติดตามตอนที่ 4 เร็วๆนี้)

Categories: Articles Anything | Tags: , | No Comments

ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไป (ตอนที่ 2)

January 12th, 2010

ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไป (ตอนที่ 2) โดย สรณ์ จงศรีจันทร์ – ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ในกลุ่มบริษัท ยัง แอนด์ รูบิแคม แบรนด์

1. ผู้บริโภคมีความหลากหลายในความคิด  ความชอบ และรสนิยม

(ต่อ)

ผมมีโอกาสได้เดินทางไปต่างจังหวัดทั่วประเทศค่อนข้างบ่อย  และมีโอกาสได้เข้าพักในโรงแรมระดับปานกลางในแต่ละจังหวัด

ตกค่ำมีโอกาสอยู่ในห้องพัก เปิดดูโทรทัศน์ที่สามารถรับช่องสัญญาณ 3, 5, 7, 9, NBT และ ไทยทีวี ผมยังต้องตะลึงกับช่องสัญญาณโทรทัศน์ท้องถิ่นที่มีช่องให้เลือกอย่างมากมาย

ถ้าคุณเป็นคนชอบดูหนังใหญ่ในโรงภาพยนตร์  คุณจะได้ดูหนังฝรั่งพากย์ไทย  แบบยุคสมัย 70 หรือ 80 แบบในโรงภาพยนตร์ประเภทพระโขนงรามา  หรือ บางแครามา ยังไงยังงั้น ได้อรรถรสแบบในอดีตดีจัง ทำให้ตัวเองนึกถึงอดีตย้อนยุคกลับไปเมื่อยังหนุ่มๆ ตอนได้ยินเสียงเหล่านักพากย์ที่มีน้ำเสียง จังหวะ และลีลาแบบหนังฝรั่งพากย์ไทยในอดีต

ถ้าคุณเป็นคนธรรมะ ธัมโม คุณก็สามารถที่จะได้สัมผัสกับกลิ่นไอของบรรยากาศแบบอยู่ในวัดที่มีหลวงตา หลวงพ่อ แม่ชี มาเทศนา มาสอนให้เหล่าญาติโยมได้อิ่มบุญไปตามๆกัน

ผมชอบช่องนี้มากเป็นพิเศษ  เพราะชีวิตคนกรุงอย่างผมไม่ค่อยจะมีโอกาสได้เข้าวัด เข้าวา ทำบุญ ทำทานกันมากเหมือนกับคนในต่างจังหวัดที่โชคดีมีสุข มีโอกาสได้สัมผัสสิ่งดีๆเหล่านี้

และผมคงไม่ต้องอธิบายถึงช่องที่มีรายการเกี่ยวกับข่าวท้องถิ่น ช่องรายการท่องเที่ยวท้องถิ่น ช่องรายการแม่บ้านท้องถิ่น ช่องรายการบันเทิงที่มันส์สะใจกว่าที่ผมได้เคยดู ช่องรายการดูแลสุขภาพท้องถิ่น และอีกหลากหลายรูปแบบของรายการที่คุณจะประทับใจอย่างสุดๆ

ที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นคงมีรูปแบบที่อาจจะไม่ต่างจาก True Visions ที่เป็น Cable TV ในระดับประเทศจากส่วนกลางที่กรุงเทพฯ แต่ผมก็ได้เห็นจุดยืนที่ชัดเจนอีกรูปแบบในรายการท้องถิ่นที่เจาะลงไปลึกกว่าที่ True Visions ได้รังสรรค์ให้กับผู้บริโภคในระดับประเทศ

ผมได้กล่าวในฉบับที่แล้วว่า  จาก Segmentation ไปสู่ Fragmentation และจาก Fragmentation ไปสู่ Micronmentation

จังหวัดก็คือ  Micronmentation ที่ผู้บริโภคมีความต้องการที่ต่างจากคนในจังหวัดอื่นๆ หรือภาคอื่นๆ

ความแตกต่างในทัศนคติ  ความชอบ ความสนใจ รสนิยม ไปจนถึงการใช้ชีวิตของตนเองในถิ่นฐานนั้นๆ

แม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์ที่วางขายบนแผงหนังสือในจังหวัดต่างๆ  ก็มีหลายฉบับที่คุณไม่สามารถหาซื้อมาอ่านได้ในกรุงเทพฯ เพราะเนื้อหาและเรื่องราวเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่  “เหมาะสม” (Relevance) ต่อผู้บริโภคในจังหวัดนั้นๆ ที่ก่อให้เกิดความน่าสนใจและมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดนั้นๆเช่นกัน

2. ผู้บริโภคในปัจจุบันดื้อยาและเคยตัวมากขึ้น

แชมพู 2 in 1 ที่มาพร้อมกับครีมนวดผม เมื่อ 20 ปีที่แล้วจากค่าย

Unilever ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด

ทำไมต้องมีแชมพูสระผม 1 ขวด และครีมนวดผมอีก  1 ขวดใน

ห้องน้ำ ไม่เห็นจะสะดวกสบายเลย

ที่สำคัญถ้าราคาขายขวดละ 10 บาท 2 ขวดก็น่าจะ 20 บาท (ราคา

สมมุติ)

แต่แชมพู + ครีมนวดผม 2 in 1 ไม่ได้ขายที่ 20 บาท จากสมการ

1+1 = 2 ในความเป็นจริงราคาแชมพู + ครีมนวดผม ขายอยู่ที่ 15 บาท (ราคาสมมุติ)

แปลว่าผู้บริโภคไม่เพียงจะได้ความสะดวกสบายจากสินค้า 2 in 1 ไม่

ต้องเทขวดนึงแล้ววางขวดนึง แล้วก็หยิบขวดใหม่มาเทแล้ววางอีกขวด

ผู้บริโภคยังได้ความคุ้มค่าไปอีกด้วยจากราคาที่ถูกลง

ทั้งสะดวก ทั้งคุ้มค่า และที่สำคัญจากมุมมองของเจ้าของสินค้า

คือ ผู้บริโภคได้สินค้าที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

คงไม่มีใครออกสินค้าใหม่ แล้วมีคุณสมบัติของสินค้าคงเดิมหรือแย่

ลงกว่าเดิมเด็ดขาด!

ปัจจุบันคุณจะเห็นสินค้าจากแบรนด์ดังๆ  ที่ออกมากระหน่ำตลาดด้วย

นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เป็นแค่เพียง 2 in 1 อีกต่อไป

เพราะคำว่า 2 in 1 ดูเหมือนจะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป

ผมเชื่อว่าคุณเคยเห็นและได้ยินสีทาอาคารแบรนด์หนึ่งที่วางจุดขาย

ไปถึง 7 in 1 แล้ว มีคุณสมบัติปกป้องได้ถึง 7 ประการด้วยกัน สามารถทำให้บ้านหรืออาคารดูสวยและใหม่ได้ตลอดกาล

สินค้าบำรุงผิวหน้าชายแบรนด์หนึ่ง  ที่วางจุดขายของสินค้าไปถึง 10

in 1 ทิ้งห่างคู่แข่งที่เคยวางตัวเองเป็นเพียงแค่ 7 in 1 สามารถทำให้ผิวหน้าชายชาตรีดูเนียนสวย ใส อ่อนเยาว์ได้ตลอดกาลเช่นกัน

การตลาดบนตัวเลขมีทั้งข้อดีและมีทั้งข้อเสีย

วันนี้มี 10 in 1 พรุ่งนี้คงต้องมี 12 in 1 หรือ 20 in 1 อย่างแน่นอน

ผมรับประกันได้

เพราะผู้บริโภคมีความคาดหวังและความต้องการมากขึ้น อีกนัยหนึ่ง

ผู้บริโภคได้  “ดื้อยา” ไปแล้ว ที่มีอยู่มันไม่พอที่จะตอบสนองความต้องการของเขาได้

ในมุมของนักการตลาด  การเพิ่มคุณสมบัติให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

เปรียบเสมือนการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อความแข็งแกร่งและอยู่รอดของธุรกิจ

วันที่ Sony เปิดตัวกล้อง Digital แบบมือสมัครเล่นในวันแรกเมื่อ

ประมาณ 10 ปีที่แล้ว  ความละเอียดของรูปที่ถูกบันทึกด้วยกล้อง Digital มีความละเอียดสูงเพียงแค่ประมาณ 1 ล้าน pixel

บนความละเอียดประมาณ 1 ล้าน pixel คุณสามารถอัดขยายภาพบน

กระดาษขนาด Postcard ได้อย่างสวยงาม คมชัด

แต่ถ้าอัดขยายมากกว่าขนาด Postcard คุณภาพของภาพก็จะแตก

มัวทันที

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับคุณภาพของกล้อง Digital แบบมือสมัครเล่นใน

วันนี้?

14 ล้าน pixel (หรือมากกว่าเข้าไปแล้ว!)

คุณภาพของรูปที่สามารถอัดขยายได้บนกระดาษสูงถึงขนาดเท่าตัว

คนจริงๆเลยทีเดียว

คนส่วนใหญ่ใช้โหมดถ่ายภาพสูงถึงขนาดความละเอียด 14

ล้าน pixel หรือเปล่า?

คำตอบคือ คนส่วนน้อยมากๆ ที่จะใช้ความละเอียดสูงถึงขนาดนั้น

เพราะมันไม่จำเป็น (Irrelevance) ที่จะต้องอัดขยายรูปให้ใหญ่ถึง

ขนาดเท่าตัวคน ปกติดูจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็เพียงพอ ชอบรูปไหนก็อัดขยายออกมาประมาณขนาด Postcard หรือ Jumbo ที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ก็เพียงพอแล้ว

แล้วทำไมถึงต้องมีความละเอียดของรูปสูงมากขึ้นทุกปีๆ?

ผู้บริโภคคงไม่แค่ต้องการ  Functionality เพียงอย่างเดียว พวกเขา

คงอยากได้หน้า อยากได้ตาว่าได้ครอบครองสินค้าที่มีคุณสมบัติและประสิทธิภาพสูง

ลึกๆแล้วคงภูมิใจว่ากล้อง 10 กว่าล้าน Pixel ของตนคงเก๋ เท่ห์กว่า

เพื่อนที่มีเพียงแค่ 2 ล้าน Pixel

อีกมุมหนึ่งของฝ่ายผู้ผลิต เทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาให้ล้ำหน้ากว่าที่

เคยเป็น ต้นทุนในการผลิตจึงถูกลง  เป็นเหตุผลให้ผู้บริโภคสามารถซื้อของได้ในราคาเดิม แต่ได้คุณสมบัติและประสิทธิภาพมากกว่าที่เคยเป็น

เช่นเดียวกันผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้  ผู้บริโภคจะมีโอกาส

ครอบครองกล้องถ่ายภาพ Digital แบบมือสมัครเล่นในราคาประมาณหมื่นบาท ที่มีความละเอียดสูงถึง 50 ล้าน Pixel ก็เป็นได้

จะกล่าวโทษว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายดื้อยาหรือเรียกร้องความต้องการ

เพียงฝ่ายเดียวก็คงจะไม่ถูก

เจ้าของสินค้าก็มีส่วนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริโภคด้วยการ

ป้อนสิ่งแปลกๆ สิ่งใหม่ๆออกสู่ตลาด

การแข่งขันอย่างเสรีในธุรกิจ ไม่มีคำว่าประนีประนอมหรือเกรงใจ

ถ้าผู้ประกอบการรายหนึ่งไม่ทำ ก็จะมีอีกรายที่จะทำ แล้วถ้าอีกราย

ไม่ทำ ก็จะมีอีกหลายๆรายที่จะทำ

ผู้ประกอบการเองคงต้องหากลยุทธ์ในทุกรูปแบบที่จะยึดสมรภูมิของ

ตนให้ได้ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค

(โปรดติดตามตอนที่ 3 คะ)

Categories: Articles Anything | Tags: , | No Comments