ภาพบรรยากาศงานสัมมนา 13 จริตของแบรนด์ ณ โรงแรม Palazzo เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กันยายน 2553

September 28th, 2010

และแล้วก็ได้ผ่านพ้นไป กับงานสัมมนาการกุศลในหัวข้อเรื่อง 13 จริตของแบรนด์ โดย อาจารย์สรณ์ จงศรีจันทร์ ต้องขอขอบคุณผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน รวมถึงผู้ร่วมจัดงานสัมมนาในครั้งนี้นะคะ พวกพี่ๆเพื่อนๆน้องๆได้มาร่วมทำบุญและยังได้รับความรู้กลับไปพัฒนาธุรกิจของทุกๆท่านให้เจริญยิ่งๆขึ้นๆไป ^^

สัมมนาครั้งนี้เราได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก สังเกตได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งเป็นจำนวนกว่า 70 ท่าน และทุกท่านต่างตั้งอกตั้งใจฟังอาจารย์สรณ์บรรยาย เป็นภาพที่น่าปลื้มใจจริงๆคะ :)

ไม่เพียงแค่ได้ความรู้และได้บุญกันนะคะ เพื่อนๆพี่ๆที่เข้าร่วมสัมมนายังนำผลิตภัณฑ์ของตนเองมาร่วมจับฉลากให้กับผู้ร่วมสัมมนาได้มีโอกาสลุ้นรับของรางวัลกันด้วยค่ะ มาดูโฉมหน้าผู้ได้รับรางวัลกันนะคะ

งานสัมมนาครั้งนี้ได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพราะความร่วมมือของพี่ๆเพื่อนๆน้องๆทุกๆท่านนะคะ ขอให้ทุกท่านประสบแต่ความเจริญร่งเรือง โชคดีมีชัยตลอดไปนะคะ

แล้วพบกันในงานสัมมนาดีๆครั้งหน้า วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม 2553 ในหัวข้อเรื่อง “แบรนด์ฮวงจุ้ย” คะ

Categories: Gallery Anything | Tags: , , , | No Comments

Y&Rchetypes (Archetype)

September 24th, 2010

Y&Rchetypes (Archetype) เป็นเครื่องมืออีกตัวหนึ่งที่บริษัท Y&R สร้างขึ้นมาเพื่อศึกษาความหมายของแบรนด์ (Brand Meaning) ที่ซ่อนอยู่ในความคิดความรู้สึกของผู้บริโภค ซึ่งนักสร้างแบรนด์หลายท่านเรียกสิ่งนี้ว่า Brand DNA นอกจากนี้แล้ว Y&Rchetypes ยังใช้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆในการวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) ให้โดนใจผู้บริโภคได้อีกด้วย โดยการใช้ลักษณะของตัวละครจากตำนาน เทพนิยาย หรือวรรณคดีต่างๆที่เป็นสากลมาใช้ในการศึกษาและวางแผน

ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่า เรื่องราวที่พบได้เสมอในละคร ตำนาน เทพนิยาย หรือวรรณคดีต่างๆไม่ว่าจะเป็นของชาติไหนวัฒนธรรมใด ต่างก็มีเรื่องราวและบทบาทของตัวละครที่ส่วนใหญ่ใกล้เคียงกัน ซึ่งต่อมาได้มีนักจิตวิทยาชื่อดังชาวสวิสนามว่า Carl Gustav Jung ได้ทำการศึกษาเรื่องอิทธิพลของผลรวมแห่งจิตใต้สำนึกของมนุษย์ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรม (Collective Unconscious) โดยศึกษาจากความคิดฝันของมนุษย์ในเรื่องราวของตำนาน เทพนิยาย หรือวรรณคดีต่างๆของหลายเชื้อชาติจากหลากหลายวัฒนธรรมแล้วพบว่า ส่วนใหญ่มีเคร้าโครงที่ใกล้เคียงกันนั่นคือ เรื่องราวการเดินทางในชีวิตของพระเอกหรือตัวละครเอก (Hero Journey) ซึ่งลักษณะและบทบาทของตัวละครเอกในแต่ละเชื้อชาติก็จะแตกต่างกันไป โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 บทบาทใหญ่คือ พระเอกนักสู้ (Warrior) พระเอกนักผจญภัย (Explorer) พระเอกนักปกครอง (Patriarch) และพระเอกนักรัก (Lover) อย่างไรก็ตามนอกจากตัวละครเอกแล้วก็มีบทบาทของตัวละครอื่นๆเข้ามาร่วมด้วยเพื่อให้เรื่องราวนี้ดำเนินต่อไปได้ไม่ว่าจะเป็น นางเอกผู้ใสชื่อ (Maiden) สหายที่ร่วมผจญภัย (Companion) ตัวตลก (Jester) นักปราชญ์ (Sage) ฯลฯ จากบทบาทของตัวละครที่หลากหลายแต่กลับคล้ายคลึงกันในนิยายหรือวรรณคดีของแต่ละเชื้อชาติทำให้ Carl Gustav Jung พบว่า บทบาทของตัวละครที่มนุษย์จินตนาการเหล่านี้คือสิ่งที่สะท้อนจิตใต้สำนึกของแต่ละคนให้แสดงบุคลิก พฤติกรรมออกมาในสิ่งที่อยากเป็นและให้คนอื่นมองเห็นอย่างที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว ซึ่ง Carl Gustav Jung เรียกสิ่งนี้ว่า Human Archetype
Y&Rchetypes ถูกพัฒนาขึ้นมาจากแนวคิดเรื่อง Human Archetype นี้ เพื่อใช้ในการศึกษาความหมายของแบรนด์ (Brand Meaning) ที่ซ่อนอยู่ในใจผู้บริโภคผ่านทางลักษณะของตัวละครต่างๆ จากการศึกษาของ Carl Gustav Jung พบว่า Human Archetype นั้นสามารถแบ่งเผ่าพันธุ์มนุษย์ออกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1. กลุ่มจิตวิญญาณ (Spirit) ซึ่งยึดมั่นในอุดมการณ์
2. กลุ่มความคิด (Thought) ซึ่งสุขุมและมีสติปัญญาล้ำลึก
3. กลุ่มพลังงาน (Energy) ซึ่งเต็มไปด้วยพลังในการสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลง
4. กลุ่มอารมณ์ (Emotion) ซึ่งเป็นมิตรและใจดีมีเสน่ห์
5. กลุ่มแก่นสาร (Substance) ซึ่งเต็มไปด้วยสาระและความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่ง

Y&R ได้นำเอาข้อมูลความรู้จาก BAV มาวิเคราะห์ร่วมกับแนวคิดเรื่อง Human Archetype นี้จนสามารถจัดแบ่งตัวตนของแบรนด์ออกได้เป็น 13 ประเภท ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ย่อยที่สืบเชื้อสายมาจาก 5 เผ่าพันธุ์ที่กล่าวมาแล้ว และนำมาสร้างเครื่องมือที่ใช้ศึกษาตัวตนของแบรนด์ซึ่งอยู่ในใจผู้บริโภคที่เรียกว่า Y&Rchetypes โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ

ตัวตนของแบรนด์ต่างๆ 13 ประเภทตามแนวคิดของ Y&Rchetypes

1. แบรนด์ประเภทวีรบุรุษ (Hero)
ตามตำนานสากลแล้ววีรบุรุษหรือวีรสตรีคือ ผู้รับบทนำในเรื่องราวต่างๆไม่ว่าจะเป็น เฮอรคิวลิสที่สังหารงูยักษ์ 9 หัวไฮดร้าในเทพนิยายกรีก นิวอาร์มสตรองผู้พิชิตดวงจันทร์ในยุคปัจจุบัน หรือแม้แต่องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชในประวัติศาสตร์ไทย จะเห็นได้ว่าความหมายของวีรบุรุษในเรื่องราวสากลนั้นคือ ผู้ที่มีความเชื่ออันแรงกล้า (Belief) และยึดมั่นในอุดมการณ์ มีวิสัยทัศน์ (Vision) ต้องผ่านอุปสรรคและความท้าทายต่างๆมากมายจนสำเร็จ (Immortality) ก่อนจะได้มาซึ่งวีรกรรมแห่งชัยชนะ
แบรนด์ที่จะถูกมองว่าเป็นวีรบุรุษได้นั้น จะต้องเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับว่าเป็นผู้นำในท้องตลาด มีเกียรติประวัติที่ดีในตลาดมานานดั่งเรื่องราวการเดินทางของวีรบุรุษ มีบุคลิกลักษณะที่โดดเด่นเป็นสง่า (Distinctive) มีไหวพริบปัญญา (Intelligent) และความมีศักด์ศรีกับคุณธรรม (Noble) แบรนด์ที่เป็นวีรบุรุษนั้นสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของจิตวิญญาณ (Spirit)

จากผลการวิจัยของ YR BAV พบว่า Nokia คือแบรนด์ที่เป็นวีรบุรุษในสายตาของคนทั่วโลก โดย Nokia เริ่มต้นมาจากผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายเล็กๆของประเทศฟินแลนด์จนกลายเป็นบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่สุดของยุโรป ภายใต้วิสัยทัศน์ของผู้นำที่ว่า จะสร้างนวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่งเพื่อเชื่อมโยงมนุษย์เข้าด้วยกัน (Connecting People) ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของแบรนด์ที่เป็นวีรบุรุษได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ก็ยังมีแบรนด์ในหมวดสินค้าและบริการอื่นๆอีกมากมายที่ถูกมองว่าเป็นวีรบุรุษอาทิเช่น สำนักข่าว CNN ที่มุ่งมั่นนำเสนอข่าวสาร ความรู้อย่างไม่หยุดยั้ง แม่นยำ เที่ยงตรง ทันเหตุการณ์ตลอด 24 ช.ม. Rolex สุดยอดของนาฬิกาซึ่งเป็นที่สุดแห่งคุณภาพและสุดยอดปรารถนาของคนทั่วโลกมากว่าศตวรรษ หรือจะเป็นแคมเปญโฆษณาของ Apple ที่ได้สะท้อนวิสัยทัศน์ของความเป็นผู้นำ ผ่านทางบุคคลผู้ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดและมีชื่อเสียงระดับโลก ภายใต้แนวคิด “Think Different”

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นวีรบุรุษของ Apple ภายใต้แนวคิด “Think Different”

2. แบรนด์ประเภทเพื่อนสนิท (Companion)
เพื่อนแท้คือสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งในชีวิตของคนเราหลายๆคน เพราะเพื่อนแท้นั้นเราสามารถเล่าปัญหาและปรึกษาทุกอย่างได้ การที่คนเราจะมีเพื่อนสนิทหรือเพื่อนแท้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องผ่านบททดสอบในการใช้ชีวิตมากมายมาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นยามที่มีความสุขหรือความทุกข์ร่วมกัน เมื่อเราอยู่กับเพื่อนที่เราสนิทด้วยเราจะรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นเป็นกันเอง (Friendly) ทำให้เกิดความผ่อนคลาย (Relax) และสบายใจ (Comfort) ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงเคยผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาแล้วและน่าจะเข้าใจความหมายอันเป็นสากลของ Archetype ประเภทเพื่อนสนิทนี้เป็นอย่างดี
แบรนด์ที่จะถูกมองว่าเป็นเพื่อนสนิทได้นั้น จะต้องมีลักษณะของความเป็นมิตร (Friendship) ชอบผูกสัมพันธ์ (Sociability) และให้ความช่วยเหลือสนับสนุน (Help & Support) แบรนด์ประเภทเพื่อนสนิทนี้สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของอารมณ์ (Emotion)
จากผลการวิจัยของ YR BAV ทั่วโลกพบว่า แบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการส่วนใหญ่อาทิเช่น โรงแรม สายการบิน ร้านอาหารฯลฯ มักจะใช้ความเป็นเพื่อนสนิทนี้เป็นจุดขายที่สร้างความเชื่อมั่นและไว้เนื้อเชื้อใจในกลุ่มผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น การบินไทยซึ่งเคยได้รับรางวัลสายการบินที่ให้บริการยอดเยี่ยมของโลก อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดสำหรับแบรนด์ของประเทศไทยก็คือ เอ็มเคสุกี้ที่นำเสนอภาพลูกค้าที่เข้ามารับประทานอาหารกับครอบครัวอย่างมีความสุข ด้วยอาหารที่สดสะอาดและพนักงานที่เต็มใจให้บริการอย่างสามัคคี ภายใต้จุดขายที่ว่า ช่วงเวลาแห่งความอบอุ่น
ในเชิงกลยุทธ์ของการสื่อสารแล้วความเป็นแบรนด์ประเภทเพื่อนสนิทนี้ จะช่วยสร้างความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจในสินค้าและบริการของแบรนด์ รวมทั้งยังช่วยสร้างความสนิทสนมและสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคผ่านทางสายใยแห่งความเชื่อมั่น (Bond of Trust) ได้ดีอีกด้วย

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นเพื่อนสนิทของ การบินไทย

3. แบรนด์ประเภทมารดา (Earth Mother)
แม่หรือมารดา คือผู้ที่ให้กำเนิดชีวิตและอุ้มชูเลี้ยงดูจนเราเติบใหญ่ เป็น Archetype พื้นฐานที่ทุกคนรู้จักเพราะแม่คือประสบการณ์แรกที่ทุกชีวิตได้รู้จัก สัมผัส ดั่งเช่นทารกน้อยแรกเกิดรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นและห่วงใยที่แม่มีให้ แม่คือผู้ที่ให้การอุปถัมภ์เลี้ยงดู (Nurturance) เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ (Abundance) ตามธรรมชาติซึ่งแทรกซึมอยู่ในความรู้สึกผูกพันคุ้นเคย (Belonging) แม้ว่าแม่แต่ละคนจะมีบุคลิกลักษณะและวิธีการอบรมเลี้ยงดูลูกที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การมอบคุณค่าที่ดีที่สุดให้กับลูกและครอบครัว ทั้งหมดนี้คือความหมายของแม่ซึ่งเป็นสากลและทุกคนสัมผัสได้
แบรนด์ที่จะถูกมองว่าเป็นมารดาได้นั้น จะต้องมีลักษณะของความทะนุถนอม อ่อนโยน เอาใจใส่ (Nurturing) มีความจริงใจไม่เสแสร้ง (Genuine) และแน่วแน่มั่นคงสม่ำเสมอ (Stable) แบรนด์ที่เป็นมารดานั้นสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของแก่นสาร (Substance) ซึ่งเต็มไปด้วยสาระและความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่ง
จากผลการวิจัยของ YR BAV ทั่วโลกพบว่า แบรนด์ที่มีความเป็นมารดามักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทอาหารการกินหรือของที่ใช้ในชีวิตประจำวันของครอบคัว ตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มมอลต์สกัดรสช็อคโกแล็ตยี่ห้อโอวัลติน(Ovaltine) ที่คุณแม่มักจะชงให้ลูกๆกินก่อนไปโรงเรียนทุกเช้า เพราะนอกจากรสชาติที่เด็กๆชื่นชอบแล้วยังเปี่ยมไปคุณค่าของมอลต์และวิตามินเกลือแร่ต่างๆมากมาย ทำให้คุณแม่มั่นใจว่าลูกจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน ในการเล่าเรื่องราวของแบรนด์โอวัลตินในโฆษณาก็มักจะสะท้อนสายใยความผูกพันระหว่างน้องพลับและคุณแม่ หรือความอบอุ่นในครอบครัวของคุณรวิชญ์ให้ผู้บริโภคเห็นอยู่เสมอ

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นมารดาของ Ovaltine

4. แบรนด์ประเภทผู้สร้างความประหลาดใจ (Jester)
ตามรากศัพท์แล้ว Jester คือ ตัวตลกหลวง ผู้มีหน้าที่สร้างความบันเทิงให้กับพระราชาและขุนนางในราชสำนัก โดยสามารถหลอกคนดูให้เพลิดเพลินด้วยมุขตลกและกลเม็ดที่สร้างความประหลาดใจใหม่ๆ ชนิดที่ไม่มีใครคาดเดาได้ สำหรับความหมายที่แท้จริงของ Archetype Jester ในเรื่องราวสากลนั้นคือ ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์แปลกๆใหม่ๆ (Creative) เป็นคนที่รักความสนุกสนาน (Fun) ขี้เล่นและเจ้าเล่ห์แสนกล ชนิดจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ชอบทำในสิ่งที่คนคาดไม่ถึงและการหลอกให้เข้าใจผิด (Misunderstood) ตัวอย่างเช่น มิสเตอร์บีนในภาพยนตร์ นักแสดงตลกในโลกแห่งความเป็นจริงอย่าง จิม แครี่ หรือผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อย่างดีไซน์เนอร์ชั้นนำเช่น Jean Paul Gaultier ซึ่งนำเสนอเสื้อผ้าในสไตล์ที่สุดโต่งเกินคาดเดา
แบรนด์ประเภท Archetype Jester นี้สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของพลังงาน (Energy) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบุคลิกลักษณะตรงข้ามกับกลุ่มของแก่นสาร (Substance) ซึ่งเต็มไปด้วยสาระและความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งอย่างสิ้นเชิง แบรนด์ที่จะถูกมองว่าเป็นผู้สร้างความประหลาดใจได้นั้น จะต้องแสดงออกถึงความสนุกสนาน (Fun) มีการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ (Original) ไม่ชอบเคารพกฏเกณฑ์และเป็นนักแหกคอกตัวยง (Irrelevant) ด้วยเหตุนี้ Archetype Jester จึงเป็นการสร้างตำแหน่งสินค้า (Brand Positioning) ที่ท้าทายความซ้ำซากจำเจจากสิ่งที่นำเสนอแบบเดิมๆ มาสู่วิธีการนำเสนอที่สร้างสรรค์ใหม่ๆซึ่งสนุกสนาน ทำให้แบรนด์สามารถเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น เบียร์ไฮเนเก้น (Heineken) ซึ่งแม้จะเข้ามาในตลาดไทยตามหลังคู่แข่ง แต่ด้วยวิธีการโฆษณาที่แตกต่างซึ่งนำเอาเรื่องราวในชีวิตประจำวันของกลุ่มเป้าหมายมาหักมุมด้วยมุกตลกขำๆ ทำให้แบรนด์ไฮเนเก้น (Heineken) เป็นที่จดจำและสนใจของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในประเทศไทยก็คือแบรนด์แฮปปี้ (HAPPY) ระบบโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินของค่ายดีแทค ซึ่งได้ฉีกตัวเองออกจากแบรนด์ของคู่แข่ง ด้วยจุดขายเรื่องความเป็นระบบโทรศัพท์ที่ใช้ง่ายเหมาะสำหรับทุกๆคนและภาพลักษณ์ที่สบายๆ สนุกสนานแฝงด้วยอารมณ์ขันให้อมยิ้ม

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นผู้สร้างความประหลาดใจของ Heineken

ตัวอย่าชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นผู้สร้างความประหลาดใจของ Happy

แม้ว่าการใช้ Archetype Jester นี้จะใช้ความสนุกสนานและอารมณ์ขันมาทำให้ผู้บริโภคจดจำได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจมีพลังต่อผู้บริโภคเพียงชั่วคราว เพราะถ้าหลังจากผู้บริโภคพิจารณาแล้วไม่มีอะไรที่เป็นสาระน่าสนใจก็จะกลายเป็นความสนุกสนานเพียงข้ามคืน แล้วก็จะค่อยๆสลายไปเพราะไม่มีเนื้อหาสาระอะไรให้เก็บไว้ในความทรงจำ ดังนั้นเราจึงควรสอดแทรกเนื้อหาสาระบางอย่างที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่จะโฆษณาลงไปในความสนุกสนานที่จะนำเสนอด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการสื่อสาร

5. แบรนด์ประเภทนักปราชญ์ (Sage)
นักปราชญ์คือผู้ที่เปี่ยมไปด้วยสติปัญญาและความคิดอันลึกซึ้ง ใช้ความรอบรู้เป็นเครื่องนำทางชีวิต ใช้ประสบการณ์มาเป็นบทเรียน เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับนักถือจากคนส่วนใหญ่ เนื่องจากมีความปราดเปรื่อง ฉลาดเฉลียว ตัวอย่างเช่น ขงเบ้ง อัลเบิร์ต ไอสไตน์ เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความหมายของ นักปราชญ์ในเรื่องราวสากลนั้นคือ ผู้ที่มีปัญญาอันรอบรู้ (Spiritual) เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญา (Wisdom) และความฉลาดรอบรู้ (Wise)
แบรนด์ที่จะถูกมองว่าเป็นนักปราชญ์ได้นั้น จะต้องมีภาพลักษณ์ของผู้ที่สุขุมรอบคอบ (Wise) มีความรู้ที่ลึกซึ้ง (Profound) และรักสันโดษ (Asceticism) ทั้งนี้เพราะแบรนด์ที่เป็นนักปราชญ์นั้นสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของความคิด (Thought) ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ทีตรงข้ามกับบุคลิกลักษณะแบรนด์ประเภทผู้สร้างความประหลาดใจ (Jester) อย่างสิ้นเชิงเช่นกัน
จากผลการวิจัยของ YR BAV พบว่า Microsft คือแบรนด์ที่เป็นนักปราชญ์ในสายตาของคนทั่วโลก ด้วยความฉลาดล้ำในการคิดค้นและพัฒนาการระบบปฏิบัติคอมพิวเตอร์ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและใช้งานง่ายสำหรับคนทั่วโลกอาทิเช่น Microsoft Window & Office รวมทั้งภาพลักษณ์ที่นำเสนอความเป็นมืออาชีพที่สุขุมและรอบรู้ซึ่งสามารถสังเกตได้จากชิ้นงานโฆษณาภาพลักษณ์ของบริษัท นอกจากนี้ก็ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิวหน้าที่เน้นเรื่องความสวยงาม แต่เนื่องจากกระแสการดูแลสุขภาพในปัจจุบัน ทำให้หลายแบรนด์หันมาสร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ด้วยการอ้างถึงผลพิสูจน์ทางการแพทย์หรือหาสถาบันวิจัยมาสนับสนุน บางยี่ห้อถึงขนาดวางตำแหน่งตัวเองเป็นเครื่องสำอางที่แพทย์รับรองอย่างเช่น Eucerin เป็นต้น นอกจากความเป็นนักปราชญ์จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แบรนด์เป็นอย่างดีแล้วก็ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำได้ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทแอลกฮอล์ระดับพรีเมี่ยมซึ่งเป็นเจ้าตลาดอย่าง ก็นำเสนอภาพลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นนักปราชญ์ผู้ลึกซึ้งในความคิดและสะท้อนความเป็นผู้นำได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นนักปราชญ์ของ Johnnie Walker

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นนักปราชญ์ของ Eucerin

6. แบรนด์ประเภทนักมายากล (Magician)
นักมายากลหรือผู้มีศิลปะแห่งอำนาจวิเศษเหมือนมีเวทมนตร์อันอัศจรรย์ เป็นตัวแทนของพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง (Power of Change) อย่างการเปลี่ยนแปลงรูป การเปลี่ยนสภาพและการเปลี่ยนแปลงตัวเองตัวอย่างเช่น พ่อมดในตำนานผู้มีเวทมนตร์สามารถหายตัวไปไหนมาไหนได้อย่างรวดเร็ว ซุปเปอร์แมนในภาพยนตร์ที่เปลี่ยนตัวเองจากหนุ่มนักข่าวผู้แสนซื่อไปสู่วีรบุรุษผู้พิทักษ์โลก หรือแม้แต่นักร้องสาวซุปเปอร์สตาร์อย่างมาดอนน่าที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเองทุกครั้งที่ออกอัลบั้มเพลงใหม่ๆ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มักจะแปรไปสู่สิ่งที่ดีกว่า (Positive Aspect of Change) และเป็นการเกิดใหม่ (Rebirth) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความหมายของนักมายากลในเรื่องราวสากลนั้นคือ การเปลี่ยนแปลง (Transformation) การให้อำนาจ (Empowerment) และความปิติยินดี (Delight)
เนื่องจากแบรนด์ที่เป็นนักมายากลนั้นสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของความคิด (Thought) และกลุ่มของพลังงาน (Energy) จึงเป็นแบรนด์ที่มีบุคลิกลักษณะของผู้ที่ฉลาดเฉลียว (Clever) มีพรสวรรค์ (Gifted) ซึ่งดูลึกลับชวนให้ค้นหา (Mysterious)
จากผลการวิจัยของ YR BAV ทั่วโลกพบว่า Smirnoff ผู้นำแห่งเหล้าวอดก้านั้นถูกมองเป็นแบรนด์ประเภทนักมายากลเพราะในการโฆษณามักจะพยายามสื่อถึงอำนาจพิเศษของ Smirnoff ที่ก่อให้เกิดภาพลวงตาที่เปลี่ยนแปลงความรู้สึกได้อย่างประหลาด อย่างไรก็ตามการจะใช้ Archetype Magician เป็นกลวิธีในการโฆษณานั้นควรจะมีเหตุผลประกอบที่ดูน่าเชื่อถือ เพื่อสนับสนุนผลแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สัญญาไว้หลังจากการใช้สินค้าหรือบริการ และถ้าจะให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ Archetype Magician นี้มากขึ้น ก็ควรมีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน จับต้องได้ ไม่คลุมเครือและเห็นผลที่รวดเร็วเหมือนใช้เวทย์มนตร์

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นนักมายากลของ Smirnoff

7. แบรนด์ประเภทผู้พิทักษ์ (Guardian)
การปกป้อง คุ้มครอง พิทักษ์หรืออารักขาคือเรื่องราวของ Archetype ประเภทนี้ ตัวอย่างเช่น แฮกริดคุณครูที่คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำแก่แฮรี่พอตเตอร์ในภาพยนตร์ เหล่าอัศวินโต๊ะกลมผู้พิทักษ์ของกษัตริย์อาเธอร์ หรือตำรวจที่คอยพิทักษ์ความสงบสุขให้กับบ้านเมืองของเรา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความหมายของผู้พิทักษ์ ในเรื่องราวสากลนั้นคือ การปกป้องคุ้มครอง (Protection) เป็นที่ปรึกษา (Mentoring) และมีระเบียบวินัย (Discipline)
เนื่องจากแบรนด์ที่เป็นผู้พิทักษ์นั้นสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของความคิด (Thought) และกลุ่มของแก่นสาร (Substance) จึงเป็นแบรนด์ที่มีบุคลิกลักษณะของผู้ที่รอบคอบ (Organized) มีระบบระเบียบแบบแผน (Systematic) มีการบริหารควบคุมที่ดี (Controlled) ผู้พิทักษ์นั้นมักจะทำตัวเป็นพลังเงียบที่คอยเกื้อหนุนหรือคอยดูแลคุ้มครองอยู่เบื้องหลังเหมือนปิดทองหลังพระ ไม่โฉ่งฉ่าง ก้าวร้าว มีความสงบนิ่งสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองและสถานการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี
จากผลการวิจัยของ YR BAV พบว่า Shell คือแบรนด์ที่เป็นผู้พิทักษ์ในสายตาของคนทั่วโลกเพราะ Shell ไม่เพียงแต่พัฒนาน้ำมันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพรถและดูแลรักษาเครื่องยนต์แล้ว แต่จัดตั้งโครงการและช่วยรณรงค์ให้คนหันมารักษาชีวิตสัตว์และสภาพแวดล้อมของโลกด้วย สำหรับในประเทศไทยแล้วผลิตภัณฑ์ประเภทวัสดุที่ช่วยในการก้อสร้างอย่างเช่น ปูนซีเมนต์หรือแม้แต่สีทาบ้านหลายยี่ห้อ ก็พยายามสื่อสารความเป็นแบรนด์ผู้พิทักษ์ให้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นผู้พิทักษ์ของ Shell และสี TOA

ในเชิงกลยุทธ์ของการสื่อสารแล้ว Archetype ประเภทผู้พิทักษ์นี้จะช่วยเรียกร้องความสนใจของผู้บริโภคให้หันมาตระหนักถึงความสำคัญของสินค้าและแบรนด์ที่ใช้อยู่ได้เป็นอย่างดี จากเดิมที่อาจจะถูกมองว่ามีความสำคัญไม่มากนัก การใช้Archetype ประเภทผู้พิทักษ์นี้จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหากแสดงออกมาในแง่ของความมุ่งมั่นในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็ต้องไม่ดูเถรตรงและขาดสีสันที่น่าสนใจในการนำเสนอ Archetype ประเภทผู้พิทักษ์นี้เหมาะอย่างยิ่งกับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องดูแล รวมทั้งการคุ้มครองโลกใบนี้ให้ปลอดภัยและน่าอยู่

8. แบรนด์ประเภทผู้บริสุทธิ์ (Maiden)
ผู้บริสุทธิ์หรือบางครั้งก็คือนางเอกผู้อ่อนโยนและใสซื่อ บทบาทของ Archetype ประเภทนี้มักจะปรากฏเสมอๆในเรื่องราวต่างๆ ตัวอย่างเช่น สโนไวท์ผู้อ่อนโยนและใสซื่อในนิทาน แม่ชีเทริซ่าผู้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้จนกลายเป็นที่รักและจดจำของคนทั้งโลก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความหมายของผู้บริสุทธิ์ในเรื่องราวสากลนั้นคือ ความบริสุทธิ์ (Purity) ใสซื่อไร้มารยา (Innocence) และยอมเสียสละตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น (Selfless Service)
เนื่องจากแบรนด์ที่เป็นผู้บริสุทธิ์นั้นสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของแก่นสาร (Substance) และกลุ่มของอารมณ์ (Emotion) จึงเป็นแบรนด์ที่มีบุคลิกลักษณะของผู้ที่มองโลกในแง่ดี (Optimistic) มีความใสซื่อ (Innocent) และบริสุทธิ์อย่างธรรมชาติ (Gifted)
จากผลการวิจัยของ YR BAV พบว่า Johnson & Johnson คือแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ดูแลเด็กทารกที่คุณแม่ทั่วโลกวางใจ ด้วยการเน้นจุดขายเรื่องความอ่อนโยนบริสุทธิ์ของผลิตภัณฑ์ น้ำแร่เอเวียง (Evain) ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของแบรนด์ที่ถูกมองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในสายตาของคนทั่วโลก

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นผู้บริสุทธิ์ของ Johnson & Johnson

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นผู้บริสุทธิ์ของ Evain

ในเชิงกลยุทธ์ของการสื่อสารแล้ว Archetype ประเภทผู้บริสุทธิ์นี้หากนำมาใช้โฆษณาสินค้าประเภทของกินของใช้ที่เกี่ยวกับร่างกายแล้ว จะสามารถเรียกความไว้วางใจจากผู้บริโภคได้ง่าย แต่ก็มักจะแฝงด้วยพลังเฉื่อยเนื่องจากบทบาทของความเป็นนางเอกที่เอาแต่มองโลกในแง่ดี ใสซื่อดูไม่ทันโลกจนถูกตัวอิจฉากลั่นแกล้งแล้วก็มานั่งร้องไห้ตามแบบฉบับของนิยายน้ำเน่าสมัยก่อน ดังนั้นบทบาทนางเอกผู้บริสุทธิ์ในสมัยนี้จึงถูกเปลี่ยนแปลงให้มีความรู้เท่าทันเหตุการณ์ของโลกมากขึ้นและมีปากมีเสียงกล้าเผชิญหน้ามากขึ้นแต่ยังรักษาไว้ซึ่งเจตนาอันดีบริสุทธิ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะนำไปปรับใช้สำหรับสร้างเสน่ห์ให้กับแบรนด์ที่เป็นArchetype ประเภทผู้บริสุทธิ์ในปัจจุบันได้ดี

9. แบรนด์ประเภทผู้น่าหลงใหล (Enchantress)
ผู้น่าหลงใหลหรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า นางฟ้า เป็นผู้ที่มีเสน่ห์เย้ายวนใจ เปี่ยมไปด้วยพลังลึกลึบที่ชวนให้ใครต่อใครต้องหลงใหลและปรารถนาที่จะเป็นเจ้าของ ตัวอย่างเช่น เฮเลนหญิงสาวผู้เลอโฉมที่สุดในโลกจนเป็นฉนวนให้เกิดสงครามอันยิ่งใหญ่ระหว่างกรีกและโรมัน หรือบู๊เช็คเทียนหนึ่งในสี่สาวงามของจีนก็เป็นฉนวนให้เกิดสงครามอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีนเช่นกัน สำหรับผู้น่าหลงใหลในชีวิตจริงยุค 90 นั้นก็คือ มาราลีน มอนโร ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความหมายของผู้น่าหลงใหลในเรื่องราวสากลคือ ความสุข (Pleasure) การกระตุ้นความรู้สึก (Sensuality) และการล่อใจ (Temptation)
เนื่องจากแบรนด์ที่เป็นผู้น่าหลงใหลนั้นสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของอารมณ์ (Emotion) และกลุ่มของ พลังงาน (Energy) จึงเป็นแบรนด์ซึ่งมีบุคลิกลักษณะที่งดงาม (Beautiful) มีเสน่ห์ลึกลับชวนให้ค้นหา (Mysterious) และเย้ายวนใจ (Tempting)
จากผลการวิจัยของ YR BAV ทั่วโลกพบว่า แบรนด์ที่มีความเป็นผู้น่าหลงใหลมักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทน้ำหอมเครื่องสำอางอาทิเช่น Dolice & Gabbana, Calvin Klien , AXE เป็นต้น นอกจากแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าประเภทน้ำหอมเครื่องสำอางแล้ว ร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Starbuck ก็ถูกมองว่าเป็นผู้ทีมีเสน่ห์เย้ายวนใจเนื่องจากบรรยากาศของกาแฟอันหอมกรุ่นทั่วทั้งร้าน ดังนั้นจะเห็นว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ประสาทสัมผัสทั้ง 5 นี้คือช่องทางสำคัญที่จะใช้เป็นกลยุทธ์ในการทำให้แบรนด์ของเรากลายเป็นที่หลงใหลของกลุ่มเป้าหมายเราได้ง่าย

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นผู้น่าหลงใหลของ AXE

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นผู้น่าหลงใหลของ D&G

10. แบรนด์ประเภทนักรบ (Warrior)
เรื่องราวของนักรบมักจะเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ที่ต้องใช้กำลังเพื่อปราบปรามศัตรูหรือแข่งขันให้ได้มาซึ่งชัยชนะตัวอย่างเช่น อคิลิสผู้ต่อสู้กับทรราชในสงครามกรุงทรอย เหล่าบรรดาขุนศึกสปาตัสแห่งกรีกที่มีเพียงแค่ 300 คนแต่ต้องต่อสู้กับกองทัพศัตรูขนาดใหญ่ในภาพยนตร์เรื่อง 300 หรือไกรทองผู้ปราบจระเข้ในวรรณคดีไทย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความหมายของนักรบในเรื่องราวสากลคือ พละกำลัง (Power) การปราบปรามศัตรูคู่แข่ง (Overthrowing the Tyrant) เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ (Victory)
แบรนด์ที่เป็นนักรบนั้นสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของจิตวิญญาณ (Spirit) และกลุ่มของความคิด (Thought) จึงเป็นแบรนด์ที่เป็นลักษณะหนึ่งของวีรบุรุษประเภทนักรบ ซึ่งมีบุคลิกลักษณะของผู้ที่มีความแข็งแกร่ง (Strong) มีความเชื่อมั่น (Confident) และกล้าหาญ (Courageous)
จากผลการวิจัยของ YR BAV ทั่วโลกพบว่า ยางรถยนต์ยี่ห้อ Pirelli มีลักษณะของแบรนด์ที่เป็นนักรบเนื่องจากในการโฆษณามักจะชูจุดขายที่ว่า เป็นยางรถยนต์ที่มีความทนทานสูงและพร้อมส่งให้รถคุณไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ ภายใต้ไอเดียที่ว่า “Driving Instinct” หรือบริการขนส่งสินค้าอย่าง Fedex ที่มีความมุ่งมั่นที่จะส่งของที่รับมอบหมายไม่ว่าจะต้องพบอุปสรรคมากมายแค่ไหน สำหรับประเทศไทยแล้วแบรนด์ที่สร้างภาพลักษณ์ความเป็นนักต่อสู้ได้ชัดเจนอย่างมากแบรนด์หนึ่งก็คือ คาราบาวแดง ซึ่งพยายามตอกย้ำความเป็นนักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่ในทุกๆแคมเปญโฆษณาที่นำเสนอ

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นนักรบของ Pirelli

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นนักรบของคาราบาวแดง

ในเชิงกลยุทธ์ของการสื่อสารแล้ว หากเรารู้จักนำเอา Archetype ประเภทนักรบนี้มาใช้กระตุ้นความรู้สึกผู้บริโภคได้โดนใจ โดยการนำเอาลักษณะเด่นมาใช้ได้ถูกต้องก็จะทำให้แบรนด์เกิดพลังในการดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมายได้มาก ตัวอย่างเช่น บุหรี่ Malboro ที่นำเสนอภาพลักษณ์ของความเป็นชายชาตรีซึ่งดูเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ ซึ่งสะท้อนสิ่งที่ผู้ชายหลายคนโหยหาอยู่ลึกๆ และทำให้ Malboro กลายเป็นบุหรี่ที่ขายดีอันดับต้นๆของอเมริกา

11. แบรนด์ประเภทนักค้นหา (Explorer)
นักค้นหา, นักสำรวจ, นักเดินทาง, นักผจญภัย, หรือคนรักอิสรภาพ คือคำนิยามที่หลากหลายของ Archetype ประเภทนี้ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางที่ไม่หยุดนิ่งของผู้รักเสรีภาพที่ชอบแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆในโลกกว้าง ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัวรวมทั้งความฝันของเขาได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวของ อินเดียน่าโจนส์ วีรบุรุษนักผจญภัยในภาพยนตร์ ผู้ซึ่งเดินทางไปค้นหาสมบัติยังดินแดนลึกลับเต็มไปด้วยภัยอันตรายมากมาย ส่วนถ้าเป็นนิยายไทยก็คงคล้ายกับเรื่องเพชรพระอุมา หรืออีกตัวอย่างหนึ่งในโลกแห่งความจริงก็คือ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสผู้แล่นเรือเดินทางรอบโลกจนค้นพบทวีปอเมริกาในประวัติศาสตร์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความหมายของนักค้นหาในเรื่องราวสากลคือ การค้นหาตัวเอง (Self-Discovery) การแสวงหาผจญภัย (Quest) การทดลองเพื่อให้ได้มาซึ่งประสบการณ์ใหม่ๆ (Trial) กล้าเสี่ยงที่จะทำสิ่งที่นอกเหนือขอบเขตจำกัด (Challenge)
แบรนด์ประเภทนักค้นหานั้นสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของจิตวิญญาณ (Spirit) และกลุ่มของพลังงาน (Energy) จึงเป็นแบรนด์ที่เป็นลักษณะหนึ่งของวีรบุรุษประเภทนักค้นหาผจญภัย ซึ่งมีบุคลิกลักษณะของผู้ที่รักความอิสระเสรี เป็นตัวของตัวเอง (Independent) รักการผจญภัย (Adventurous) กล้าเผชิญหน้ากับเรื่องที่ต้องเสี่ยงและท้าทาย (Daring)
จากผลการวิจัยของ YR BAV พบว่า Nike คือแบรนด์ที่เป็นนักค้นหาในสายตาของคนทั่วโลก เนื่องจากมีการพัฒนาสินค้าที่ไม่หยุดยั้งและมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ไม่ได้ยึดติดกับการที่จะขายสินค้า แต่กลับสนับสนุนให้มนุษย์ทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้าภายใต้ความคิดที่ว่า “Just do it”
ในเชิงกลยุทธ์ของการสื่อสารแล้ว แบรนด์ที่จะสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นนักค้นหา (Explorer) ควรจะเน้นไปที่ความสำเร็จ ในความเป็นนักค้นหา นักทดลอง นักสำรวจ รักการแสวงหาผจญภัย และควรแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของแบรนด์ที่กว้างไกลเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์ ในขณะเดียวกันสินค้าและบริการที่นำเสนอก็ต้องสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคแบบ Explorer ได้ด้วยตัวอย่างเช่น รถยนต์ Land Rover ที่ชูจุดขายภายใต้ความคิดที่ว่า “Approve by the Wild” เป็นต้น

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นนักค้นหาของ Nike

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นนักค้นหาของ Land Rover

12. แบรนด์ประเภทนักปกครอง (Patriach)
นักปกครอง นักบริหาร หรือกษัตริย์ คือคำนิยามที่หลากหลายของ Archetype ประเภทนี้ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของนักปกครองผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจแห่งความเป็นผู้นำ มีความมั่นคงมั่งคั่ง คอยควบคุมดูแลความสงบสุขและเป็นที่พึ่งของประชาชน จนได้รับความเคารพนับถือ ตัวอย่างเช่น กษัตริย์อาเธอร์ในตำนานอัศวินโต๊ะกลมผู้เป็นที่พึ่งของประชาชนและปกครองให้ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็น พระเจ้าอโศกมหาราชของชาวภารตะผู้ซึ่งปกครองประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความหมายของนักปกครองในเรื่องราวสากลคือ การมีอำนาจหน้าที่ (Authority) ระเบียบวินัย (Order) และรากฐานที่มั่นคงมั่งคั่ง (Establishment)
แบรนด์ประเภทนักปกครองนั้นสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของจิตวิญญาณ (Spirit) และกลุ่มของแก่นสาร (Substance) จึงเป็นแบรนด์ที่เป็นลักษณะหนึ่งของวีรบุรุษประเภทนักปกครอง ซึ่งมีบุคลิกลักษณะของผู้ที่มีความสง่างาม (Dignified) ตรงไปตรงมา (Straightforward) และเชื่อถือได้ (Authoritative)
จากผลการวิจัยของ YR BAV ทั่วโลกพบว่า บัตรเครดิต American Express เป็นแบรนด์ที่มีลักษณะของนักปกครองด้วยรากฐานการเงินที่มั่นคงและมีมานาน ในขณะที่โฆษณาก็จะนำเสนอเรื่องราวของสิทธิเศษ การได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง หรือบางครั้งก็ใช้ผู้มีชื่อเสียงในสังคมมาสนับสนุนและบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับบัตร American Express ดังเช่นชิ้นงานโฆษณาบัตร American Express ด้านล่างที่ใช้นักเทนนิสผู้ฝีมือฉกาจระดับโลกอย่าง แอนดี้ ร๊อดดิค มานำเสนอ สำหรับประเทศไทยแล้วแบรนด์ที่สะท้อนภาพลักษณ์ของความเป็นนักปกครองหรือนักบริหารที่เด่นชัดก็คือ ปตท. สังเกตได้จากงานโฆษณาภาพลักษณ์ขององค์กรส่วนใหญ่ที่ผ่านมา ซึ่งนำเสนอภาพความเป็นผู้นำที่มีความตั้งใจทุ่มเทที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ภายใต้แนวคิดล่าสุดที่ว่า เราทุ่มเทเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นนักปกครองของ American Express

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นนักปกครองของ ปตท.

ในเชิงกลยุทธ์ของการสื่อสารนั้น แม้ว่าแบรนด์ที่จะสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นนักปกครองจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ดี แต่ก็ควรเป็นแบรนด์ที่มีเกียรติประวัติที่ดี มีรากฐานความเป็นมา ไม่ใช่เป็นแบรนด์ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การรักษาคำมั่นสัญญาที่นำเสนอไว้ในโฆษณา เพราะหากไม่สามารถรักษาคำสัญญาหรือผลลัพธ์ที่จะได้หลังการใช้สินค้าที่โฆษณา ก็จะเป็นการทำลายเกียรติประวัติยาวนานที่ทำมาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังควรนำเสนอภาพลักษณ์ที่ไม่ให้ดูจริงจังหรือเครียดมากไปนัก เพราะกษัตริย์หรือนักปกครองโดยตำแหน่งแล้วจะอยู่เหนือประชาชนทำให้เกิดช่องว่างและความรู้สึกเหินห่างกับผู้บริโภคได้ง่าย ดังนั้นจึงควรสอดแทรกอารมณ์ของความสบายๆเป็นกันเองเข้าไปด้วย เพื่อให้แบรนด์ดูเป็นกันเองและผู้บริโภคอยากรู้จักมากขึ้น

13. แบรนด์ประเภทนักรัก (Lover)
เรื่องราวของนักรัก คนรัก คู่รักหรือผู้มอบความรักนั้นส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความซาบซึ้งและโรแมนติกยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวความรักอันโรแมนติกของจูเลีย โรเบิรต์ และฮิวจ์ แกร้นท์ในภาพยนตร์เรื่อง Nothing Hill หรือรักปนเศร้าอย่างโรมิโอและจูเลียต เรื่องราวของพยัคฆ์ร้ายผู้เก่งฉกาจในการปราบปรามเหล่าร้ายอย่าง เจมส์ บอนด์ 007 ผู้แพรวพราวไปด้วยเสน่ห์มัดใจหญิง หรือเลดี้ ไดอาน่าเจ้าหญิงผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี อ่อนโยนและดูสูงศักดิ์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความหมายของนักรักในเรื่องราวสากลคือ ความรักความผูกพันอันซาบซึ้ง (Romance) การช่วยเหลือ (Rescue) และความหรูหราสง่างาม (Glamorous)
แบรนด์ประเภทนักรักนั้นสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มของจิตวิญญาณ (Spirit) และกลุ่มของอารมณ์(Emotion) จึงเป็นแบรนด์ที่เป็นลักษณะหนึ่งของวีรบุรุษประเภทนักรัก ซึ่งมีบุคลิกลักษณะของผู้มีความลึกซึ้งสุนทรีย์ ละเมียดละไม อ่อนโยน (Romantic) มีความเนียบโก้หรู (Dashing) เอาใจเก่งและให้เกียรติคน (Chivalrous)
จากผลการวิจัยของ YR BAV ทั่วโลกพบว่า Tiffany & Co.คือแบรนด์ประเภทนักรักเพราะมีภาพลักษณ์และเครื่องประดับที่ดูโก้หรู เพื่อมอบให้คนที่รักหรือให้เป็นรางวัลกับตัวเอง การด์สำหรับอวยพรในเทศกาลต่างๆอย่าง Hallmark ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งเพราะ Hallmark ค้นพบว่าการที่คนมอบการ์ดให้กันนั้นเพื่อต้องการบอกความรู้สึกพิเศษๆที่มีต่ออีกฝ่ายให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้เขารู้ว่า “คุณพิเศษสำหรับฉันมากแค่ไหน” สำหรับแบรนด์ประเภทนักรักที่โดดเด่นในความคิดคนไทยก็คือ Coffee-mate ซึ่งพยายามตอกย้ำเรื่องราวความรักระหว่างชายหญิงเปรียบดั่งกาแฟก็ต้องคู่กับคอฟฟี่เมต
ในเชิงกลยุทธ์ของการสื่อสารแล้ว Archetype ประเภทนักรักนี้จะใช้สร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ที่ขายสินค้าราคาระดับกลางไปจนถึงแพง ดูแตกต่างจากแบรนด์ที่ขายราคาระดับกลางถึงต่ำทั่วๆไปได้ด้วยรสนิยมที่ดี แบรนด์ที่จะสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นคู่รักนั้น (Lover) ควรจะเน้นเรื่องการให้คนมีความรักความสัมพันธ์อันแนบแน่ ช่วยให้คนรู้สึกพิเศษด้วยความรักและการดูแล ตัวอย่างเช่น เรื่องราวความรักและการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันของมาร์คกับแพท สุธาสินี พุทธินันท์ ในโฆษณาของแบรนด์รังนก เป็นต้น

ตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่สื่อความเป็นคู่รักของ แบรนด์รังนกแท้

จากการศึกษาตัวตนของแบรนด์ทั้ง 13 ประเภทผ่านทางเรื่องราวและบทบาทของตัวละครต่างๆที่กล่าวมาแล้วนั้น จะช่วยให้เราเข้าใจความหมายของแบรนด์ที่ซ่อนอยู่ในใจผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น สามารถนำลักษณะดังกล่าวมาทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับแบรนด์คู่แข่ง เพื่อที่จะได้ทราบถึงจุดแข็งจุดอ่อนในแบรนด์ของเรา และนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้สร้างตำแหน่งใหม่ของแบรนด์ในใจผู้บริโภค (Brand Positioning) ให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งและโดนใจมากขึ้นในใจผู้บริโภคได้ Y&Rchetypes ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของ Y&R และมีความแตกต่างจากเครื่องมือการวางกลยุทธ์ทั่วๆไป เพราะช่วยเราจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆได้เป็นอย่างดี (เรียกได้ว่าเป็น Creative Tool) ทำให้ Y&R เราสามารถสร้างตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) ที่มีความแข็งแรงในใจกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Categories: Uncategorized | No Comments

ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไป (ตอนที่ 5)

September 21st, 2010

ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไป (ตอนที่ 5) โดย สรณ์ จงศรีจันทร์ – ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ในกลุ่มบริษัท ยัง แอนด์ รูบิแคม แบรนด์

4. ต้องได้เห็น ต้องได้ลอง ถึงจะตัดสินใจซื้อ (ต่อ)

มีตัวอย่างที่ผมชื่นชมและยกย่องที่สุดบนแนวคิดต้องได้เห็น ต้องได้ลอง ถึงจะตัดสินใจซื้อในระดับขั้นเทพของประเทศไทย

เมื่อช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว (ปีพ.ศ. 2540) ที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ธุรกิจการค้าไม่ว่าจะขนาดเล็กแค่ไหนหรือจะขนาดใหญ่แบบมีภูมิคุ้มกันมาอย่างต่อเนื่องต่างต้องโดนหางเลขกันไปถ้วนหน้า วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นจุดเริ่มต้นที่คนไทยเริ่มรู้จักกับคำว่า Lay-off (การไล่พนักงานออก) การ Freeze เงินเดือน (ไม่ขึ้นเงินเดือน) หรือการลดเงินเดือน

องค์กรในแต่ละภาคธุรกิจต่างต้องพากันเอาตัวรอด ไม่ว่าด้วยการใช้กลยุทธ์แบบไหนก็ตาม คำว่ากำไรคงไม่ใช่ลำดับของความสำคัญในวันนั้นโจทย์ของทุกองค์กรมีอยู่ว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ธุรกิจของตนต้องแย่ลงไปกว่าเดิม การเอาตัวรอดได้ในช่วงวิกฤติขณะนั้นเป็นคำตอบสุดท้ายของผู้บริหารในทุกองค์กรเช่นกัน

ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่โดนมรสุมอย่างเต็มๆ เพราะเป็นภาคธุรกิจที่ใช้เงินในการลงทุนที่สูง เพื่อพัฒนาโครงการและต้องมีพนักงานเป็นจำนวนมากในแต่ละแผนกที่แตกต่างกันไปในการขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการอสังหาริมทรัพย์เกือบทั้งร้อยในวันนั้นจะถูกสร้างขึ้นก็หลังจากเจ้าของโครงการได้รับเงินจองจำนวนหนึ่ง และระหว่างทางก็ต้องได้รับเงินค่างวดเพื่อนำไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างมาปลูกสร้างบ้านให้กับลูกค้าที่ได้จับจองบ้านเอาไว้

ดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณีไปโดยปริยาย ที่ทุกโครงการอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเราจะต้องรับเงินจองและค่างวดก่อน

ในทางตรงกันข้าม ลูกค้าจะไม่มีโอกาสได้เห็นสินค้าจริงก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหรือวางเงินจอง การซื้อขายบ้านแต่ละหลังอยู่บนพื้นฐานของบ้านตัวอย่างที่มากับแบบพิมพ์เขียวและรูป Perspective ที่สวยงามจากโบรชัวร์จนหักห้ามใจไม่ได้

ห้องนอนกว้าง โปร่งโล่งสบาย

ห้องรับแขกที่มีเฟอร์นิเจอร์สุดหรู พร้อมกับทีวีจอยักษ์

ห้องครัวอันแสนจะโอ่อ่า แบบในนิตยสารบ้านของต่างประเทศ พร้อมอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้เหมือนเชฟใหญ่ในโรงแรม 5 ดาว

สวนสวยด้วยแมกไม้ใบหญ้า ดูร่มรื่นเขียวขจี

สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นเป็นเพียงแค่การสร้างจินตนาการหรือความฝันให้เกิดขึ้นในกลุ่มเป้าหมาย

บ่อยครั้งที่รูปแบบของ Perspective ในโบรชัวร์ก็ไม่ตรงกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจริงหลังจากที่โครงการได้ถูกสร้างเสร็จ

สวนหย่อมที่ดูสวยงามและคลับเฮ้าส์ที่แสนจะใหญ่โต พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆไม่ได้เกิดจริงตามที่ระบุไว้ในโบรชัวร์การขาย

บางโครงการแอบตัดเอาไปทำบ้านอีก 1 หลัง เพื่อสร้างผลกำไรที่มากขึ้น เพื่อกระเป๋าของตัวเอง

สะพานลอยรถข้ามที่ถูกวาดไว้อย่างสวยงามในโบรชัวร์การขายก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามที่พนักงานขายได้คุยโม้ คุยโตเอาไว้ ว่าลูกบ้านไม่ต้องขับรถไปอีก 5 กิโลเพื่อ U-turn เข้าเมือง และนี่คือความจริงที่เกิดขึ้นในยุคนั้น

ถนนในโครงการที่ฝันไว้ว่าจะมีขนาดกว้างและต้นไม้ใหญ่ปลูกไว้ตามฟุตบาทเพื่อความร่มรื่น ก็เป็นเพียงต้นมะขามเล็กๆสูงแค่ 2 เมตรเป็นต้น
ปัญหาคือโอกาสของผู้ที่มีวิสัยทัศน์

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทยที่ทุกๆคนต้องรู้จักคือ Land & Houses ได้ฉีกกฎการตลาดและการขายโครงการหมู่บ้านจัดสรรแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

Land & Houses ได้เปิดตัวแนวคิดนี้โดยผ่านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่มีเนื้อหาใจความ “คุณต้องเก็บเงินมาทั้งชีวิตกว่าจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของบ้านสักหลัง คุณแน่ใจหรือว่าเงินที่คุณได้เสียไปจะไม่หายไปกับความฝันที่คุณมี”

Land & Houses มีโฆษณา 2-3 ชุดที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของกลุ่มเป้าหมายต่อการเป็นเจ้าของบ้านในโครงการบ้านจัดสรรที่สร้างความประหลาดใจต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เองและต่อกลุ่มเป้าหมาย

Land & Houses ยังปล่อยโฆษณาที่มีเนื้อหาใจความว่า “ของทุกสิ่งทุกอย่าง คุณจะต้องเห็นก่อน ลองก่อน คุณถึงจะควักเงินออกมาซื้อไม่ใช่หรือ? แล้วการซื้อบ้านแต่ละหลัง ทำไมคุณถึงยอมจ่ายเงินโดยที่ยังไม่ได้เห็นอะไรเลย” เป็นต้น

นับจากวันนั้นการซื้อบ้านหรือคอนโดแต่ละหลังในกลุ่มเป้าหมายก็เปลี่ยนไป ทุกโครงการมีบ้านหรือห้องชุดคอนโดมิเนียมที่พร้อมให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเดินเข้าไปสำรวจก่อนว่าพอใจหรือเปล่า? ทิศดีหรือเปล่า? หน้าบ้านมีอะไรบดบังหรือเปล่า? ขนาดของห้องแต่ละห้องอยูในเกณฑ์ที่รับได้หรือเปล่า? เป็นต้น

Land & Houses ยังทำบ้านตัวอย่างเป็น 2 รูปแบบเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ถึงความจริงที่ต้องมาคู่กับความฝัน

บ้านตัวอย่าง 1 หลังที่ตกแต่งอย่างสมบูรณ์แบบดูเหมือนบ้านในความฝันที่มักจะเห็นได้จากนิตยสารบ้านหรูๆทั่วไป รับรองได้ว่าใครเดินเข้าไปชมบ้านตัวอย่างในรูปแบบนี้มักจะถูกการตกแต่งและบรรยากาศพาไปแล้ว 50% ที่เหลือคงต้องกลับมาดูที่กระเป๋าสตางค์ของตัวเองว่าสามารถควักออกมาจ่ายได้หรือเปล่า

ส่วนบ้านตัวอย่างอีก 1 รูปแบบที่ Land & Houses ได้สร้างไว้ใกล้ๆกับบ้านตัวอย่างที่ถูกตกแต่งอย่างสมบูรณ์แบบคือ บ้านจริงๆที่ลูกบ้านจะได้รับไปในช่วงวันโอนกรรมสิทธิ์

ไม่ต้องเสียเวลามานั่งถกเถียงกันว่าทำไมบ้านเราถึงมีห้องน้ำไม่สวยเหมือนกับบ้านตัวอย่าง หรือทำไมห้องนอนของเราถึงไม่มีพรมและม่านเหมือนห้องตัวอย่าง

แบบนี้ยุติธรรมสุดๆไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบอีกต่อไป เพราะ “What you see is what you will get”

Land & Houses ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจบนแนวคิดต้องได้เห็น ต้องได้ลองถึงจะตัดสินใจซื้อ แบบนำหน้าคู่แข่งไปหลายก้าวกระโดด จนทุกๆโครงการอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันได้นำมาปฏิบัติใช้กันอย่างแพร่หลาย

ผู้บริโภคหลอกไม่ได้อีกแล้ว เพราะพวกเขามีความคาดหวังที่สูงกว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการเจ้าของสินค้าหรือบริการจะส่งมอบกลับไปให้พวกเขา และนี่คือการให้และรับที่ไม่มีวันพอดีจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่สุดท้ายผู้บริโภคก็ย่อมเป็นผู้ชนะ เพราะพวกเขาต้องการจะได้รับมากกว่าที่พวกเขาจะให้กลับไปในรูปแบบของ “การซื้อ”

หลายคนมักถามว่า แล้วตรงไหนคือจุดสมดุลที่พอดีระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

คงไม่มีมาตรฐาน กฎเกณฑ์หรือทฤษฎีใดที่สามารถบ่งบอกถึงดัชนีตัวเลขแบบชัดๆได้

ถ้าเคยมีโอกาสได้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการใช้บริการในโรงแรมใดโรงแรมหนึ่งที่คุณเคยไปพัก คุณอาจจะให้คะแนนแต่ละข้อไม่เหมือนกับเพื่อนของคุณที่เคยไปพักโรงแรมเดียวกัน ในวันเดียวกันก็ได้

และคุณก็อาจจะให้คะแนนในการพักครั้งที่ 2 ที่โรงแรมเดียวกัน ต่างจากผลรวมของคะแนนที่คุณได้พักในครั้งแรกก็เป็นได้

โรงแรมที่คุณไปพักเมื่อครั้งแรกก็ยังคงเป็นโรงแรมเดียวกันกับโรงแรมที่คุณไปพักในครั้งที่ 2 อาจจะแตกต่างกันแค่ห้อง ที่ไม่ใช่ห้องเดิมที่อยู่ชั้นต่ำกว่า อาจจะมีเสียงรบกวนจากภายนอกมากกว่า อาจจะมีน้ำไหลออกจากฝักบัวเบากว่าหรือในห้องมีกลิ่นอับมากกว่า

นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำใจและต้องเข้าใจในการพัฒนาสิ่งที่ดีอยู่ให้ดีขึ้นไปกว่าเดิม ที่สำคัญต้องไม่ให้ลูกค้าคนสำคัญหลุดออกจากมือไปซบอกคู่แข่งอย่างเด็ดขาด

เคยคิดหรือไม่ว่าลูกค้าเป็นเผ่าพันธุ์ที่มักจะหาข้อผิดพลาดจากตัวสินค้าหรือบริการมากกว่าที่จะคอยยกยอปอปั้นในสิ่งที่คุณมี

ผมว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่จะมีลูกค้าชมคุณจนออกนอกหน้า โดยไม่มีอะไรติเลยแม้แต่นิดเดียว ผมเชื่อว่าเขาคงต้องทำอะไรผิดแน่ถึงได้ยกยอปอปั้นมาเป็นตัวทดแทนในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับธรรมชาติของมนุษย์

แต่ก็มีตัวอย่างดีๆในธุรกิจที่ลูกค้ามีความพึงพอใจต่อสินค้าหรือบริการเหมือนกันในอัตราส่วนที่น้อยนิดมาก

กลับมาเรื่องของประเด็นต้องได้เห็น ต้องได้ลอง ถึงจะตัดสินใจซื้อในธุรกิจโรงแรมกันบ้าง ปัจจุบันโรงแรมจะเชื้อเชิญให้ลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมดูสภาพของห้องพัก (Inspect) ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าพักโดยเฉพาะในการเดินทางที่ไม่ได้มีการจองล่วงหน้าในสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด

ผมเริ่มได้เห็นความจู้จี้จุกจิกของผู้บริโภคมากขึ้นทุกวันและตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

ตอนไปจังหวัดลำปาง เชียงใหม่และน่านเมื่อไม่นานมานี้ ก่อนที่จะตัดสินใจ Check-In พนักงานต้อนรับของแต่ละโรงแรมใน 3 จังหวัดคงเหนื่อยกับลูกค้าคนนี้พอสมควร

ห้องไม่มีวิว…ไม่เอา ห้องมีกลิ่นอับ…ไม่เอา ห้องมีเลข 13…ไม่เอา ห้องที่มีสัญญาณทีวีไม่ชัด…ไม่เอา ห้องที่มีห้องน้ำโทรม…ไม่เอา

เรื่องมากสุดๆ แต่ในฐานะที่ผมเป็นลูกค้า ผมมีสิทธิ์เรื่องมากไม่ใช่หรือ?

การตลาดยุคใหม่ต่างต้องสร้างกลยุทธ์ในการลดทอนระดับความเข้มข้นของความจู้จี้จุกจิกและอาการเรื่องมากของผู้บริโภค

ความพึงพอใจของผู้บริโภคเป็นคำที่ถูกใช้และเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์

ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับแจกฟรีๆจากนิตยสารประเภทต่างๆที่มีเนื้อหาสาระอยู่ในระดับคุณภาพดี อย่างเช่น BK, Guru, A Day Bulletin, Happening, 247 และอื่นๆอีก สิ่งที่กำลังตามมาที่น่าเป็นห่วงคือผู้บริโภคกำลังเคยตัวมากขึ้นกว่าเดิม ทำไมพวกเขาต้องจ่ายเงินซื้อข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในเมื่อทุกวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างได้มาฟรีๆ ง่ายๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งคงไม่ต้องกล่าวถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในโลกของอินเทอร์เน็ต

(โปรดติดตามตอนที่ 6 ในฉบับหน้าครับ)

Categories: Articles Anything | Tags: , | No Comments

พิธีมอบรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติ “มะหาดเพชร” ณ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

September 21st, 2010

มหาวิทยาลัยหาดใหญ่จัดพิธีประสาทปริญญา แก่ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 11 ประจำปีการศึกษา 2552 โดย ฯพณฯ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานในพิธี ในวันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2553 ณ ศูนย์กีฬาและกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

ทั้งนี้สภามหาวิทยาลัยหาดใหญ่มอบรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติ “มะหาดเพชร” ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม แด่คุณสรณ์ จงศรีจันทร์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กลุ่มบริษัท Young & Rubicam Brands

อาจารย์ประณีต ดิษยะศริน ได้มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่ คุณสรณ์ จงศรีจันทร์ (ที่ปรึกษาประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่)

ภาพถ่ายกับอาจารย์ประณีต (อาจารย์แม่) คุณสรณ์ และคุณอังษณา จงศรีจันทร์

ภาพถ่ายผู้รับรางวัลมะหาดเพชร และปริญญาดุษฎีบัณฑิต กับเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิ ของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่

ประเดิมภาพถ่ายกับบัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ เอกโฆษณา รุ่นแรก!!!

ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตและผู้ได้รับรางวัลทุกท่านด้วยนะคะ ^^

Categories: Gallery Anything | Tags: | No Comments

มาตามคำเรียกร้องคะ สัมมนาในหัวข้อเรื่อง Brand Feng Shui โดย อ.สรณ์ จงศรีจันทร์

September 20th, 2010

จองกันเข้ามาเยอะๆนะค่ะ ได้ทั้งความรู้และได้ร่วมทำบุญกันอีกค่ะ ^^

Categories: Seminar & Workshop Schedule | Tags: , , , , | No Comments

พบกันอีกครั้ง สำหรับงานสัมมนาดีๆ โดย อ.สรณ์ จงศรีจันทร์

September 20th, 2010

รีบจองกันเข้ามาเลยนะคะ ^^

Categories: Seminar & Workshop Schedule | Tags: | No Comments