นวัตกรรม…นวัตธรรม
August 24th, 2011
นวัตกรรม (Innovation) ตามความหมายจากพจนานุกรมแปลว่าสิ่งใหม่ วิธีการใหม่ การนำสิ่งใหม่หรือวิธีการใหม่เข้ามา (Change, Alteration, Transformation)
นวัตกรรมต่างๆในโลกถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่ตามมา
แต่ในอีกแง่คิดนึง นวัตกรรมได้ถูกนำมาเป็นกลยุทธ์และอาวุธที่สำคัญอันหนึ่งต่อองค์กรในด้านการแข่งขันเพื่อนำพาให้องค์กรนั้นๆสามารถครอบครองความเป็นผู้นำในธุรกิจได้
การเป็น ผู้นำในธุรกิจหมายถึง ความได้เปรียบในเชิงพาณิชย์ ที่สามารถครองใจผู้บริโภคได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ ภาพพจน์ และท้ายสุดได้สร้างความจงรักภักดีในกลุ่มผู้บริโภค
บ่อยครั้งที่ผู้บริโภคยึดติดกับความเป็นที่หนึ่งของแบรนด์ต่างๆ
ผู้บริโภคน้อยรายที่จะลุ่มหลงและหลงใหลต่อแบรนด์ที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครรู้จัก ความคุ้นเคยและเคยชินเป็นปัจจัยหลักซึ่งนำมาถึงความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจและความภูมิใจในกลุ่มผู้บริโภค
นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมองเห็นคุณค่าและชื่นชม แต่มีใครเคยคิดถึงการทำธุรกิจที่นำทั้งนวัตกรรมและนวัตธรรมควบคู่กันไปหรือเปล่า
นวัตธรรมคืออะไร
ความหมายและที่มาของคำว่า “ธรรม” ในภาษาไทยมีความหลากหลายในความเข้าใจ ในแต่ละมุมมอง ภาษาไทยมีเสน่ห์ที่คำหนึ่งคำสามารถถอดรหัส แปลความได้ในหลากหลายมิติ เมื่อคำ 2 คำถูกนำมาเชื่อมกัน
คุณธรรมและศีลธรรมในการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีอยู่ในสายเลือด คุณธรรมและศีลธรรมเปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกที่ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องเหยียบเพื่อก้าวขึ้นต่อไปยังขั้นบันไดที่สูงขึ้น
นวัตธรรมเป็นพื้นฐานของขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและศรัทธาจากบรรพบุรุษมาสู่มนุษย์ที่ดำรงชีวิตในปัจจุบัน
คนไทยมีวัฒนธรรมรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก
คนไทยมีวัฒนธรรมในการไหว้ต่อผู้หลัก ผู้ใหญ่หรือคนที่เราเคารพรักที่แสดงออกถึงมิตรไมตรีและมารยาทในสังคม
แต่ก็น่าเสียดายที่บ่อยครั้งเราไม่ได้รักษาขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมเหล่านี้ให้อยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
คนไทยยังใส่สูทผูกเนคไทเข้าประชุมสภา ในขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่นักการเมืองในประเทศฟิลิปปินส์หรือมาเลเซีย ใส่ชุดประจำชาติไปไหนมาไหนแทนการใส่สูทผูกเนคไท ที่ดูอุ้ยอ้าย แสนจะอึดอัด ไม่สบายตัว
ธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัย เพราะธรรมชาติให้สิ่งดีๆกับเรา โดยเฉพาะการดำรงชีวิตอยู่ให้รอดปลอดภัย
สินค้าหลายชนิดถูกสร้างขึ้นจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ เช่นอาหารการกิน เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค เป็นต้น
ธรรมชาติให้ทั้งคุณและในขณะเดียวกันก็ให้ทั้งโทษ แต่มีหลายทฤษฎีบอกไว้ว่า ธรรมชาติจะไม่รังแกชาวโลก ถ้าชาวโลกไม่เป็นฝ่ายรังแกธรรมชาติก่อน เหมือนกับเหตุการณ์น้ำท่วม แผ่นดินถล่มในหลายประเทศเมื่อปลายปี 2553 จนถึง ต้นปี 2554
และอีกหนึ่งคำของธรรมที่ถูกหล่อหลอมให้อยู่กับชาวพุทธมาโดยตลอดต่อเนื่องหลายพันปีคือ “ธรรมะ” ที่เราชาวพุทธถือปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศล ปฏิบัติในสิ่งที่ดีไม่เบียดเบียนผู้อื่น
โดยสรุปนวัตธรรมน่าจะแปลว่าการนำสิ่งใหม่ หรือวิธีการใหม่เข้ามาใช้ควบคู่ไปกับการคงไว้ซึ่งสิ่งดีๆไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกันหรือเปล่า
ที่จริงแล้วในหลวงของเราได้ฝากปรัชญาหนึ่งไว้ให้กับชาวไทยและชาวโลกเมื่อหลายปีก่อน ด้วยคำจำกัดความแบบสั้นๆและเข้าใจง่ายกว่าคือ เศรษฐกิจพอเพียงในการทำธุรกิจ และชีวิตที่พอเพียงในการดำรงชีวิต ในมุมมองของผู้บริโภค
นวัตธรรมในธุรกิจ
มีตัวอย่างของแบรนด์ที่ผมขอยกย่องเป็นพิเศษในการทำธุรกิจแบบนวัตธรรม เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว แบรนด์โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน Happy ได้ปล่อยแคมเปญโฆษณา 1 ชุด ที่มีตัวแสดงเอกเล่นเป็นนักร้องระดับซุปเปอร์สตาร์ของเกาหลี (Rain) ออกมาร้องรำทำเพลงที่พยายามจะสื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าการโทรศัพท์หากันไม่จำเป็นต้องคุยกันนานๆ ไม่จำเป็นต้องโทรหากันบ่อยๆ แบบที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆว่าโทรให้กระจาย SMS กันให้แหลกลานในสื่อโฆษณา
เนื้อหาโดยสรุปในแคมเปญโฆษณาชุดนี้คือ แต่ถ้าจำเป็นก็โทร ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องโทร และต้องโทรแบบพอเพียงอย่าสุรุ่ยสุร่าย
Happy เป็นแบรนด์อันดับต้นๆของประเทศไทย
ผมเชื่อว่าคนส่วนมากจะรู้จักแบรนด์ Happy ในฐานะที่เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน
และถ้าคุณจะลองถามเพื่อนๆว่าสีแดงมี Brand Association กับแบรนด์อะไร ผมกล้ายืนยันได้ว่า แบรนด์ Happy จะหลุดออกมาอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ร่วมกับแบรนด์ ดังๆระดับโลก เช่น Coke หรือ KFC
เป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียเงินไปกับการสร้างแคมเปญโฆษณาหลายสิบล้านบาท แต่กลับเชื้อเชิญให้กลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภค “โทรกันอย่างพอเพียง!”
รายได้หลักจากแบรนด์ Happy มาจากการที่ผู้บริโภคโทรกันมากๆไม่ใช้หรือ ยิ่งโทรกันกระจายเพียงใดรายได้ก็ย่อมได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้งอกงามเป็นกอบเป็นกำ และมั่งคั่งในที่สุด
และเมื่อประมาณปลายปี 2553 DTAC ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Happy ก็ได้ปล่อยแคมเปญโฆษณาออกสู่สาธารณชนอีก 1 ชุดที่มีชื่อว่า Disconnect to Connect (ปิดเพื่อเปิด) โดยมีเนื้อหาสาระในภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ว่าความสัมพันธ์ ความรักและสายใยที่คน ควรจะมีให้กันกลับถูกปิด โดยที่มีฝ่ายหนึ่งมัวลุ่มหลงอยู่กับการส่งข้อความผ่านเครื่องรับ-ส่งโทรศัพท์ประเภทหนึ่ง โดยที่ไม่ใส่ใจต่อคนข้างเคียง หรือคนในครอบครัว วันๆไม่ทำอะไรยกเว้นแต่รับ-ส่งข้อความผ่านเครื่องรับ-ส่งโทรศัพท์ประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมในวงกว้าง ในทุกกลุ่มอายุและเพศที่มีสถานะทางสังคมค่อนข้างไปทางมีอันจะกิน เหลือกินเหลือใช้
ในช่วงท้ายของภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ ตัวแสดงทั้งหลายที่เมามันอยู่กับการรับ-ส่งข้อความได้หยุดพฤติกรรมเหล่านั้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ ความรักและสายใยในครอบครัว หรือระหว่างคนรักกลับสู่สภาพปกติ มีรอยยิ้ม
สิ่งที่ผู้ประกอบการรายนี้และอีกหลายๆรายที่ผมไม่ได้ยกมาเป็นตัวอย่าง ได้นำสิ่งใหม่หรือวิธีการใหม่เข้ามาใช้ควบคู่ไปกับการคงไว้ซึ่งสิ่งดีๆต่อสังคมในรูปแบบนวัตธรรม
เสีย (รายได้) เพื่อได้ (ชื่อเสียง)
ธุรกิจในอดีตมักมุ่งหวังกับการครอบครองส่วนแบ่งการตลาดให้สูงที่สุด
ธุรกิจในอดีตมักมุ่งหวังรายได้จากยอดขายให้ได้มากที่สุด
แนวคิดในการทำธุรกิจยุคใหม่อาจจะไม่ได้เน้นย้ำถึงการมีส่วนแบ่งการตลาดหรือการมียอดขายที่สูงที่สุดอีกต่อไป แต่กลับหันไปมุ่งเน้นในการเป็นองค์กรแห่งความดี มีนวัตธรรมเพื่อเสริมสร้างหรือเพียงเพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอีกสักนิดอีกสักหน่อย
ผมเชื่อว่าหลายองค์กรชั้นนำกำลังเร่งสร้างแนวคิดของ Share of Heart มากกว่า Share of Market
เมื่อใดที่แบรนด์อยู่ในใจของผู้บริโภค เมื่อนั้นผู้บริโภคจะกลายพันธุ์สู่สภาพเป็นสาวกในที่สุด
การตลาดที่แท้จริง คือการที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน มีจุดยืนของสินค้าที่โดดเด่น
เป็นไปไม่ได้ที่ใครสักคนจะยึดตลาดและผู้บริโภคทั้งหมดไว้ได้เพียงคนเดียว อย่างที่รู้กันในรูปแบบ STP (Segmentation, Targeting, Positioning)
แนวคิดยิ่งน้อยก็ยิ่งมาก อย่างทฤษฎีพาเรทโต้ 20:80 เป็นตัวตอกย้ำถึงการที่แบรนด์จะต้องมีคุณธรรม ความดี ติดตัวอยู่เสมอ ขอให้มีลูกค้าแค่ 20 คนใน 100 คน แต่ใช้ 80 ใน 100 ก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างจีรังยั่งยืนไม่ใช่หรือ
Categories: Articles Anything | No Comments